ดีอีเอส จับมือ พม. ปั้นคนรุ่นใหม่ป้อนเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัลประจำหมู่บ้าน
“ชัยวุฒิ–จุติ” ประกาศความร่วมมือระหว่างดีอีเอส และ พม. ปั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจอาสาเป็น Youtuber, Net Idol ด้านดิจิทัลในชุมชน เสริมทัพเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน หวังสร้างเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับพื้นที่ หนุนการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน และปลอดภัย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (11 มี.ค. 65) ได้มีการแถลงความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้านระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วม
ทั้งนี้จากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ทั้งจากสถานการณ์ข่าวปลอม การฉ้อโกง หลอกลวงและปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่แพร่กระจายในวงกว้างตามพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ตของประชาชน ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น โดยมอบนโยบายในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วน สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพ เกิดความเชื่อมั่นในการใช้งาน เล็งเห็นความสำคัญของการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการ
ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน เพื่อให้มีวิจารณญาณในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและรู้เท่าทันภัยออนไลน์รูปแบบต่างๆ
ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับ พม. เพื่อพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทั่วประเทศ เข้ามาช่วยสนับสนุนภารกิจด้านดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน สนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีความรู้ในการใช้ประโยชน์เครือข่ายออนไลน์ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
“กระทรวงดิจิทัลฯ จะพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ที่จะสามารถเป็นผู้เผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ด้านดิจิทัลในชุมชน เช่น Youtuber หรือ Net Idol ด้านดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงภารกิจอื่น ๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ร่วมขับเคลื่อนภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ปิดช่องว่างทางด้านดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” นายชัยวุฒิกล่าว
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่และเป็นอนาคตของประเทศ ดังนั้น การสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน จากสภาเด็กและเยาวชนในจังหวัดต่างๆ ในเครือข่าย พม. เข้ามารับการอบรมเป็น “อาสาสมัครดิจิทัล” จะสร้างให้เกิดเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการสร้าง อสด. ให้ครบทุกหมู่บ้าน
โดยมองว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและสื่อเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก นับเป็นความท้าทายของความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล อีกทั้งเยาวชนต้องมี “ทักษะ องค์ความรู้ และช่องทาง” ในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ดังนั้นการร่วมเข้ารับการอบรมเป็น อสด. จะเป็นการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ และพร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน และปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการปิดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ซึ่งความร่วมมือระหว่างดีอีเอส และ พม. ในการขยายเครือข่าย อสด. โดยพม. ได้คัดเลือกเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถ มีจิตอาสา และดีอีเอส คัดเลือกเครือข่ายอสด. เครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ เพื่อมาพัฒนาเติมความรู้ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เป็น อสด. ประจำหมู่บ้าน อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกันในระดับพื้นที่
“เรามีเป้าหมายขยายเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้มี อสด. ครบทุกหมู่บ้าน
ทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนของกระทรวงฯ ในระดับพื้นที่ และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือให้คำแนะนำ ลดความตื่นตระหนกจากข่าวปลอม และลดการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และสามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลให้มีความหลากหลาย ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยังมีส่วนร่วมในการสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชนชาวไทย อย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าว