สถานการณ์เลือกตั้งส.ส.น่าน สถานการณ์เดิม-ทางเลือกใหม่ ก่อนเข้าโซนเลือกคน-เลือกพรรค
วิเคราะห์การเมืองน่าน โดย… เปี่ยมศักดิ์ แพทยกุล
ข่าวหึ่ง! 3 ป.ดอดกินข้าวบ้านป่ารอยต่อฯ จัดทัพพปชร. ถกโผโยกย้ายทหารกลางปี เตรียมพร้อมจัดทัพคนทำงานในพลังประชารัฐ เพื่อรับมือสถานการณ์การเมือง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม2565 ย่อมยืนยันได้เป็นอย่างดี ถึงความมั่นคงและเสถียรภาพของสามพี่น้อง
ยืนยันโดยสื่อกระแสหลัก ซึ่งรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางไปยังมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หลังจากที่ไม่ได้กินข้าวร่วมกันมานาน
คาดว่า ได้มีการพูดคุยถึงการเตรียมการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดข่วงเวลาและสถานที่ โดยต้องเตรียมในเรื่องของบุคคลที่จะเข้าทำหน้าที่ในพรรค หลังมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางการเมือง
โดยมีรายงานว่า ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาถึงมูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตร ได้ขอให้ทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้อง เพื่อพูดคุยกันเฉพาะสามคนพี่น้องเท่านั้น พร้อมลงลึกไปถึงรายละเอียดของอาหารมื้อกลางวันดังกล่าว อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ข้าวหมกไก่ ของหวานและผลไม้
ขณะที่คอการเมืองวิเคราะห์อย่างแหลมคม ในครึ่งปีแรกคงอาจจะไม่เกิดเหตุการณ์ยุบสภา จากปากของกุนซือฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งยืนยันว่า “ถ้ายุบสภาเกิดขึ้นมันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก ส.ส. และพรรคการเมือง”
“ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เอง ถ้าไว้ใจให้รัฐบาลออกก็ออกได้ แต่คงไม่มีใครไว้ใจให้รัฐบาลเขียนกติกา เพราะการเขียน พ.ร.ก.นั้น คือการให้รัฐบาลกำหนดกติกาเอง ฉะนั้น มันจะเกิดปัญหา ทั้งนี้ กกต.จะต้องเตรียมในเรื่องการเลือกตั้ง การยุบสภาเป็นอำนาจของรัฐบาลแต่การจัดการเลือกตั้งหลังจากยุบสภา มันเป็นเรื่องของ กกต.ทั้งหมด“
โดยมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น ประเด็นแรก กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน แก้สัดส่วน ส.ส. จากเดิมกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน เปลี่ยนใหม่ใช้สูตร ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
และประเด็นที่สอง เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากเดิมใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม (MMM) บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรใบแรกเลือกส.ส.เขต และบัตรใบที่สองเลือกพรรคการเมือง แล้วนำคะแนนทั้งประเทศไปคำนวณที่นั่งส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคการเมือง
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ฝ่ายเกี่ยวข้องคือคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ส.ส. จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ต้องเดินหน้าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 131 เสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 กำหนดเงื่อนไข รัฐสภาต้องดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายในกรอบ 180 วัน ทำให้ไทม์ไลน์การแก้กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 4 ช่วงสำคัญ
ช่วงแรก ฝ่ายเกี่ยวข้องส่งร่างกฎหมายลูกให้ที่ประชุมรัฐสภา ช่วงสอง ก.พ.-มี.ค.2565 ที่ประชุมรัฐสภาลงมติวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ช่วงสาม เม.ย.2565 มีแนวโน้มเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยวิสามัญลงมติวาระที่ 3 และช่วงสี่ พ.ค.-มิ.ย. ภายหลังลงมติวาระที่ 3 รัฐสภาต้องส่งร่างกฎหมายลูกไปที่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น
โดยหากไม่มีข้อทักท้วง ให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หากมีข้อทักท้วง เห็นว่ามีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอ ก่อนส่งให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง หรืออาจจะเร็วกว่านั้นคือเดือน พ.ค.นี้
กลับมาที่สถานการณ์ทางการเมือง จ.น่าน เนื้อหาแห่งเป้าหมายสำคัญของพรรคเพื่อไทยต่อกรณีเลือกตั้ง นำโดยน.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคนี้ ยังคงไว้ในยุทธศาสตร์สำคัญคือ“แลนด์สไลด์” โดยอาศัยประโยชน์จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พยายามเปิดแผลที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของรัฐบาล ในความล้มเหลวบริหารประเทศ
เกิดข่าวปล่อย – ข่าวลือขึ้นอย่างหนัก ในอนาคตของส.ส.น่าน ทั้ง 3 เขต ไม่ว่าจะเป็น นางสิรินทรรามสูตร ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ หรือกระทั่ง น.พ.ชลน่านเองในฐานะหัวหน้าของพรรคนี้ จะต้องแสดงสปิริตหรือไม่ เพื่อนำทัพไปต่อสู้ในระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวแทนที่จะมารักษาฐานในแต่ละเขตไว้
โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยถึง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกรรมการผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ก็ได้เปิดแคมเปญสำคัญ เพื่อเป็นพรรคทางเลือกใหม่ และเป็นทางรอดของประเทศ โดยเฉพาะยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนผู้สมัครนั้น เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ยังขออุบตัวไว้ก่อน
นอกจากนี้ “ทีมผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ชูแนวทางในการเลือกตั้งด้วยท่าทีแบบกลางๆ มองเห็นตัวเลข 260 ที่เคยสร้างความมั่นใจให้ พล.อ.ประยุทธ์เสมอเป็นเพียง “มโน” และมุ่งมั่นในความตั้งใจของ นายสักก์สีห์ พลสันติกุล ว่าที่ผู้สมัครส.ส.น่าน เขต 1
เช่นเดียวกับมั่นใจใน กำนันฉัตรชัย จิตตรง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.น่าน เขต 3 แม้เขตที่ 2 ป.พิชิต โมกศรี ยังคงสงวนการตัดสินใจ เนื่องจากยังศรัทธาผู้ชูกำปั้นของพล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. พื้นที่ดังกล่าวจึงยังถือว่า “ไม่นิ่ง” ที่จะเฟ้นคู่แข่งแข็งๆ ที่พอฟัดพอเหวี่ยงได้กับคนของพรรค “เพื่อไทย”
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยืนยันที่จะรักษาฐานเสียงของพรรคไว้ เนื่องจากเคยมีส.ส.น่าน ในเขต 1 มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะ นายคำรณ ณ ลำพูน เคยดำรงตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข จะส่งว่าที่ผู้สมัครลงอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็เพื่อคะแนนจากการเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์ โดยมีบุคคลสำคัญระดับอาจารย์ – ด๊อกเตอร์ “อดีตคีย์แมนท้องถิ่น” มาช่วยวางแผนยุทธศาสตร์ และรณรงค์หาเสียงให้
ยังพอมีเวลาพอกว่าจะเลือกตั้งส.ส. พื้นที่น่านจะได้มีทางเลือกใหม่ มาเปิดตัวกันอีก