พิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน สำหรับเกษตรกรลาว ๔๐ คน
หลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน สำหรับเกษตรกรลาว ๔๐ คน ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบเมืองนาซายทอง เมืองสังทองนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกล่าวในพิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน สำหรับเกษตรกรลาว ๔๐คน โดยมีนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกล่าวในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรดังกล่าวด้วย โดยการอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑–๓ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศยังได้ร่วมมอบปัจจัยการผลิต ได้แก่ ก้อนเห็ด เมล็ดพันธุ์ผักต่าง ๆ ให้เกษตรกรของลาวด้วย
หลักสูตรฝึกอบรมด้านการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบเมืองนาซายทอง เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มีระยะเวลาโครงการ ๓ ปี (๒๕๖๓ – ๒๕๖๖) โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้ครัวเรือนต้นแบบ ๑๐๐ ราย ใน ๓ ด้านคือ ด้านประมง ๓๐ ราย ปศุสัตว์ ๓๐ ราย และเกษตรผสมผสาน ๔๐ ราย เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ เทคนิคทางการเกษตร เทคโนโลยีสำหรับการเพิ่มผลผลิต การสร้างมาตรฐานคุณภาพผลผลิต และเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรและนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลต่อให้แก่เกษตรกรรายอื่นต่อไป สำหรับการอบรมในด้านประมงและปศุสัตว์ได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑–๒ กันยายน ๒๕๖๕ ณ ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน – ห้วยซั้ว (หลัก ๒๒) สปป.ลาว
การดำเนินงานโครงการข้างต้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและลาวแล้ว ยังทำให้ สปป.ลาว สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ในเป้าหมายที่ ๑๒: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมเพื่อสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศให้นำไปสู่รูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นการบรรลุเป้าหมายที่ ๑๗ เป็นการเสริมสร้างสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทย ผ่านการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นการป้องกันปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย เช่น ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ โดยการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน สปป. ลาว