วันนี้ในอดีต 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ‘กบฏเมษาฮาวาย’ ทหารยังเติร์กพยายามโค่น ‘พล.อ.เปรม’ (โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม)
วันนี้ในอดีต
1 เมษายน พ.ศ. 2524
‘กบฏเมษาฮาวาย‘ ทหารยังเติร์กพยายามโค่น ‘พล.อ.เปรม‘
(โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม)
ช่วงเช้ามืด เมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน 2524 เกิดความพยายามรัฐประหาร โค่นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก
ความพยายามก่อรัฐประหารในครั้งนี้ถูกเรียกว่า ‘กบฏเมษาฮาวาย‘ เนื่องจากเป็นการรัฐประหารที่ไม่สำเร็จ ขณะที่กลุ่มที่พยายามก่อรัฐประหารถูกเรียกว่า ‘ยังเติร์ก‘ เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อการส่วนใหญ่เป็นทหารหนุ่ม และเป็นนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 หรือรุ่น‘ยังเติร์ก‘ ซึ่งในขณะนั้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในกองทัพ ในระดับผู้บังคับกองพัน ซึ่งเป็นหน่วยกำลังระดับสำคัญในกองทัพ
ในตอนแรกคณะผู้ก่อการเรียกตัวเองว่า ‘คณะกรรมการสภาปฏิวัติ‘ นำโดย พ.อ.มนูญ รูปขจร, พ.อ.ชูพงศ์ มัทวพันธุ์, พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร, พ.ท.พัลลภ ปิ่นมณี โดยมี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมารองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมกำลังพลสนับสนุนการรัฐประหารถึง 42 กองพัน ซึ่งมากกว่ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลถึง 20 เท่า
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เปรม ซึ่งทราบข่าวการรัฐประหารมาก่อนแล้ว จากการถูกนายทหารระดับสูงชักชวนให้ทำการปฏิวัติตั้งแต่คืนก่อนหน้า ทำให้ไหวตัวทันและเดินทางออกจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ ไปตั้งหลักที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจาก พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2
ความพยายามต่อต้านกลุ่มกบฏใช้เวลา 55 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลโดย พล.อ.เปรม ก็ปราบกลุ่มกบฏได้สำเร็จ โดยมีรายงานว่า ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งกำลังเข้ายึดสถานที่ต่างๆ คืน และในบางจุดสามารถจับกุมกลุ่มผู้ก่อการได้โดยบังเอิญ เช่น พล.ต.ทองเติม พบสุข พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตรและ พ.อ.สาคร กิจวิริยะ ถูกจับกุมระหว่างออกตรวจแนวทหารใกล้พระราชวังสวนจิตรลดา โดยไม่รู้ว่าทหารที่ประจำการแถบนั้นเป็นทหารฝ่ายรัฐบาล จึงถูก ร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก จับกุม ซึ่งร.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก คือ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหมในเวลาต่อมา
ขณะที่แกนนำกลุ่มกบฏคนอื่นตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ เช่น พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี้ภัยที่ประเทศเยอรมนี, พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา หัวหน้าคณะ หลบหนีไปประเทศเมียนมา ด้วยการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่จังหวัดกาญจนบุรี แล้วเดินป่าข้ามแดนออกไป ก่อนที่แกนนำ 52 คนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ คืนยศทางการทหาร และบางส่วนได้ไปขอขมาพล.อ.เปรม ในภายหลัง
ที่มา https://www.thairath.co.th/news/politic/1501676
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000040057