ดีเดย์!!ทหารหมื่นนาย ยกพลขึ้นบกจันทร์นี้ฝึกคอบร้าโกล์๒๐๒๔
กลาโหมมั่นใจนอกจากฝึกยังส่งเสริมซอฟเพาเวอร์ ปชส.ไทยแลนด์ ได้
สุดคึกคัก ดีเดย์ ทหารกว่า๑๐,๐๐๐ นาย จาก๓๐ประเทศเตรียมพร้อม ยกพลขึ้นบกจันทร์นี้ ดีเดย์ฝึกคอบร้า โกดล์ ด้านกองทัพไทยพร้อมส่งเสริมซอฟเพาเวอร์และศิลปะวัฒนธรรมไทย ตามนโยบายรัฐบาลแทรก ชี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ด้านพัทยาสุดคึกคัก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์นี้ จะมีการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ ครั้งที่ ๔๓ ซึ่งปีนี้กองทัพของไทยได้ขานรับนโยบาย ซอฟเพาเวอร์ ของรัฐบาล โดยนายสุทิน คลังแสงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบนโยบายให้นำวัฒนธรรมประเพณีของไทย เช่นการต่อสู้มวยไทย ฯลฯ เข้าไปร่วมในการฝึกครั้งนี้ เพราะนอกจากการฝึกทางทหารแล้วประเทศไทยต้องได้การส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ การท่องเที่ยวเช่นพัทยา จอมเทียน บางเสร่และพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆในภาคตะวันออก และในพื้นจังหวัดชลบุรี ระยอง ลพบุรี และ จังหวัดที่กองทัพกำหนด ซึ่งทหารกว่าหมื่นนายจาก๓๐ ประเทศ จะได้นำกลับไปประชาสัมพันธ์ ไทยแลนด์ ได้อีกด้วย โดยการฝึกครั้งนี้มีระยะเวลา กว่า๑๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ไปจนถึง วันที่ ๘ มีนาคม และการฝึกในปีนี้จะกลับมาเต็มรูปแบบหลังจากลดขนาดการฝึกในช่วงโควิดไป กว่า๓ ปี
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน ๗ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีและมาเลเซียนอกจากนี้ ยังมีประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชนอีก ๒ประเทศ ได้แก่ จีนและ อินเดีย และ ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในการฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา คือ ออสเตรเลีย
สำหรับกลุ่มประเทศที่หมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation ) จำนวน ๑๐ ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศสมองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ สหราชอาณาจักร และบรูไน และประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team) : COLT) จำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว บราซิล ปากีสถาน เวียดนาม เยอรมนี สวีเดนสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) คูเวต และศรีลังกา รวม๓๐ ประเทศ มีผู้เข้าร่วมการฝึกฯจำนวน ๙,๕๙๐ นาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วมและผสม โดยการประยุกต์ ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆอีกทั้งเพื่อฝึกการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ
โดยการฝึกครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๑.การฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา สำหรับปีนี้เป็นวงรอบการฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) ซึ่งเป็นการฝึกอำนวยการยุทธ์ของกำลังรบขนาดใหญ่ เพื่อรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ในทุกมิติ(All Domain Operations) ได้แก่ ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางด้านไซเบอร์ และทางอวกาศ สำหรับการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ปี ๒๐๒๔ เป็นการฝึกบนพื้นฐานของแผนยุทธการ (OPORD) และแนวความคิดในการปฏิบัติ (CONOP) โดยพัฒนาตามหนทางปฏิบัติที่ ผบ.กกล.ร่วม/ผสม นานาชาติ ตกลงใจเลือก ตามกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางทหารแบบนานาชาติ (MDMP-M) ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของการฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAFFEX) ในวงรอบการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ๒๓ ที่ผ่านมา
๒. โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ได้แก่โครงการก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่การฝึก จำนวน ๕ พื้นที่การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ (HADR-TTX) ในหัวข้อบทบาททางทหาร ในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภายใต้กลไกลการตอบสนองในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการฝึกสาธิตฯ (HADR-Demo) ซึ่งเป็นการฝึกสาธิตแนวทางในการปฏิบัติรั้งนี้เป็นสถานี ได้แก่ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การส่งกลับสายแพทย์ สารเคมีรั่วไหล และการดับเพลิง ของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึกฯ
๓. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยน CTX และการฝึกภาคสนามของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ การฝึกอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ขัดแย้ง และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๐๒๔ ครั้งนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกในส่วนของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ความชำนาญ และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ ในการปฏิบัติการร่วมและผสมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงานด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารไทย และทหารมิตรประเทศ กับประชาชนในพื้นที่การฝึกฯ และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศและประชาคมโลกต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้จ่ายให้กับพื้นที่/ชุมชนที่มีกองทัพมิตรประเทศเข้าร่วมการฝึก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกด้วย นายจิรายุ กล่าว
ที่มา โฆษกกระทรวงกลาโหม
เครดิตภาพจาก เพจ smart soldiers strong Army
#กระทรวงกลาโหม #สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม #กองทัพไทย #กองบัญชาการกองทัพไทย #กองทัพบก #กองทัพเรือ #กองทัพอากาศ #ทหารบก #ทหารเรือ #ทหารอากาศ #เหล่าทัพ