ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. ทลายแหล่งผลิตยาน้ำสมุนไพรเถื่อน ผสมสเตียรอยด์สุดอันตราย มูลค่าของกลางกว่า 10 ล้านบาท
วันที่ 24 มีนาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดชผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., ร่วมกับ พ.ต.อ.ณัฏฐ์ โหม่งพุฒ ผกก.สส.ภจว.ขอนแก่น, พ.ต.อ.กิตติพงษ์ จิตรคามผกก.สืบสวน 3 บก.สส.ภ.4, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้มเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานกรณีทลายแหล่งผลิตน้ำสมุนไพร ผสมสเตียรอยด์โดยตรวจยึดของกลาง 61 รายการ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผู้บริโภคจำนวนมากได้ซื้อผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพร ยากษัยเส้นปู่แดง และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรที่โฆษณากล่าวอ้างบำรุงร่างกาย ช่วยเจริญอาหาร ต้านการอักเสบของ ข้อหลังและเอว ลดอาการปวดทุกชนิด มาดื่มกินและเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย อีกทั้งได้รับแจ้งว่ามีการแพร่ระบาดของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ตรวจสอบพบ
สารสเตียรอยด์ในหลายพื้นที่ โดย สสจ.เชียงใหม่และ สสจ.เลย ได้แจ้งเตือนภัยให้ผู้บริโภคทราบถึงอันตรายของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและแจ้งเบาะแสมายัง อย. จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการลักลอบผลิตตามบ้านและโกดังในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ส่งทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ อย. และ สสจ.ขอนแก่น จึงได้นำหมายค้นศาลจังหวัดพลเข้าตรวจค้นสถานที่ผลิตและเก็บอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 4 จุด รายละเอียดดังนี้
1. บ้านสองชั้น ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ตรวจยึดของกลาง จำนวน17 รายการ
2. บ้านชั้นเดียว ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น ตรวจยึดของกลางจำนวน9 รายการ
3. บ้านจัดสรรในตำบลโจดหนองแก อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 16 รายการ
4. อาคารชั้นเดียว จำนวน 4 คูหา ตำบลโนนข่า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 21 รายการ
โดยทั้ง 4 จุด พบของกลางน้ำสมุนไพร กว่า 20,000 ขวด, ยาเม็ดในกลุ่ม สเตียรอยด์ จำนวนกว่า 2,092,000 เม็ด, ยาเม็ดแก้ปวดไม่มีทะเบียน จำนวนกว่า 2,224,000 เม็ด ยาเม็ดแก้แพ้จำนวนกว่า 5,000 เม็ด รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์การผลิตจำนวนมากจากนั้นนำของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562
– ผลิต ขาย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม อันเป็นความผิดตามมาตรา 58 (1) ประกอบมาตรา 59 (3) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงที่ตั้งสถานที่ผลิตซึ่งไม่ใช่ความจริง และมาตรา 59 (5) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามตำรับที่ขึ้นทะเบียน แจ้งรายละเอียดหรือจดแจ้งไว้ซึ่งไม่ใช่ความจริง โทษสูงสุดตามมาตรา 101 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
– ผลิต ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ เป็นความผิดตามมาตรา 58(4) โทษสูงสุดตามมาตรา 106 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522
– แสดงฉลากเพื่อลวงอาหารปลอมตามมาตรา 27 (4) ฝ่าฝืนมาตรา 25 (2) โทษตามมาตรา มาตรา 59 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง100,000 บาท
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าปัญหาสเตียรอยด์
ที่คุกคามสุขภาพคนไทยเป็นเวลานาน เป็นเพราะสรรพคุณของสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและกดภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วทำให้มีผู้ลักลอบนำไปใส่ในยาชุดหรือนำไปผสมกับสมุนไพรขายในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยาลูกกลอน ยาแผนโบราณ ยาประดง ยาผงสมุนไพร ยากษัยเส้น โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่หาซื้อยากินเอง ใช้กลยุทธ์กล่าวอ้างเป็นสมุนไพรปลอดภัยใช้รักษาสารพัดโรค ทั้งกระดูกทับเส้น ปลายประสาทอักเสบ เหน็บชา เก๊าท์ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ปวดเข่า อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นต้น เมื่อทานยาจะเห็นผลระยะแรก ๆ แต่หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติที่สังเกตได้ตั้งแต่มีใบหน้ากลมอูมเหมือนพระจันทร์ มีโหนกที่แก้ม มีหนอกที่คอตัวบวมเริ่มมีไตวาย ถ้าหยุดยากะทันหันจะทำให้เกิดภาวะช็อกได้
“สเตียรอยด์” จึงเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ร้านยาขายได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคก่อนซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพใด ๆ ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้หากพบแหล่งผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่สายด่วนอย. โทร. 1556 อีเมล์ [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรและยามารับประทานเพื่อรักษาโรค ควรเลือกซื้อจากร้านขายยา หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร และขอเตือนผู้ที่ลักลอบผลิต และขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมหรือที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตราย เกิดผลกระทบกับร่างกายและเสียโอกาสได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
วันที่เผยแพร่ข่าว 24 มีนาคม 2565 แถลงข่าว 21 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”
ข้อมูล https://bit.ly/3NgUgPj