การประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee – PSC) ครั้งที่ 2
และส่งมอบโครงการพัฒนาความสามารถด้านการประมงแก่วิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้ แขวงจำปาสัก
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และ นายบุนทะวี ไซยะเพ็ด หัวหน้ากรมจัดตั้งและพนักงาน (เทียบเท่าอธิบดี) กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee – PSC) พัฒนาความสามารถด้านการประมงแก่วิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้ แขวงจำปาสัก (ครั้งที่ 2) เพื่อปิดโครงการและส่งมอบโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมี นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณเวียงจันทน์ นายอธิปัตย์ โรจนไพบูลย์ กงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยและลาวเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุมวิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
โครงการพัฒนาความสามารถด้านการประมงแก่วิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้ แขวงจำปาสัก มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรของวิทยาลัยฯ หลักสูตรการเรียนการสอนสาขาการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงปรับปรุงห้องปฏิบัติการและศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อใช้ฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาของวิทยาลัยฯ โดยมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นหน่วยงานดำเนินงานโครงการ โครงการมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 สิ้นสุดระยะเวลาโครงการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 แผนงานโครงการ ประกอบด้วย 5 ผลผลิต ได้แก่ (1) การจัดทำรายละเอียดเนื้อหาของหลักสูตรและการบริหารหลักสูตร (2) การพัฒนาศักยภาพอาจารย์สังกัดสาขาประมงให้สามารถจัดการเรียนการสอนสาขาประมงได้อย่างมีประสิทธิภาพ (3) การสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในห้องปฏิบัติการ (4) การก่อสร้างระบบน้ำบาดาลโรงเรือนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและบ่อดิน (ศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ) และ (5) การติดตามและประเมินผล รวมมูลค่าโครงการทั้งหมด 22,354,802 บาท หรือ 13,189,333,598 กีบ
ผลสำเร็จจากการดำเนินงานโครงการดังกล่าว นับได้ว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาวิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้แขวงจำปาสักและบุคลากรให้มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถจัดการเรียนการสอนด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษานำไปสู่การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ผู้เรียน อีกทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่การผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนในพื้นที่ด้วย อันจะช่วยตอบโจทย์ตามความต้องการของรัฐบาล สปป.ลาว ในการให้แขวงจำปาสัก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญทั้งด้านการเกษตรและการประมงของ สปป.ลาว