อุบลฯเร่งเครื่องประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยืน
ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (คจพ.จ.) ครั้งที่ 2/2565
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (คจพ.จ.) อุบลราชธานี ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุม POC ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีรวมถึงผ่านระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting อีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชนนักวิชาการพัฒนาชุมชนและเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (คจพ.จ.) อุบลราชธานี เข้าร่วมการประชุม และนำเสนอผลการดำเนินงานโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือการแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) มีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานและนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานในระดับชาติ จนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด(ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงานศจพ.อำเภอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จในระดับอำเภอ ทั้ง5 มิติ ได้แก่ 1)สุขภาพ 2)ความเป็นอยู่ 3)การศึกษา 4)ด้านรายได้ และ 5)การเข้าถึงบริการภาครัฐ
จังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ขานรับและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ในการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(ศจพ.) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน ซึ่งในระดับจังหวัด กำหนดให้มีศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) และในส่วนระดับอำเภอ มีศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ
นอกจากนั้น จังหวัดอุบลราชธานี ยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน ขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบประเมินผล และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งออกเป็น 5 คณะ ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด 4 ท่าน และปลัดจังหวัด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในทั้ง 5 มิติ และตามพื้นที่ ๆ รับผิดชอบด้วย
สำหรับสาระสำคัญของการประชุมฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การสรุปรายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงาน ของจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 20 จังหวัด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผิดชอบให้เป็นต้นแบบในการนำเสนอผลการดำเนินงาน รวมถึงจัดนิทรรศการการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี เทศบาลตำบลนาส่วง อำเภอเดชอุดม ร่วมจัดนิทรรศการ ในครั้งนี้ด้วย
ที่ประชุม ยังได้แจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และประชาสัมพันธ์ การดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มเติมจากคำสั่งเดิม เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ ตลอดจนนำเสนอผลการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านกลไกการขับเคลื่อนของ ศจพ. ทั้งระดับจังหวัด, อำเภอ, เทศบาลนคร, เทศบาลเมือง, ทีมปฏิบัติการตำบลและทีมพี่เลี้ยงครบทุกระดับ ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงผลการบันทึกปัญหา/ความต้องการ/การจำแนกปัญหาครัวเรือนรายตัวชี้วัด MPI ในแต่ละมิติในระบบ Logbook
นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดระดับความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมาย ในระดับต่าง ๆ ได้แก่ ระดับAB หมายถึง ครัวเรือนที่มีความวิกฤต ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ แต่ยังอยู่ในขีดความสามารถของอำเภอ/เทศบาล, ระดับ AC หมายถึง ครัวเรือนที่มีความวิกฤต ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเกินขีดความสามารถการช่วยเหลือของอำเภอ/เทศบาล ต้องส่งต่อ ศจพ.จ. โดยใช้ “เมนูความช่วยเหลือครัวเรือน“, ระดับ ABC หมายถึง ครัวเรือนที่มีความวิกฤตต้องเร่งให้ความช่วยเหลือซึ่งสามารถบูรณาการช่วยเหลือได้ในระดับอำเภอ/เทศบาล และมีการส่งต่อ ศจพ.จ. โดยใช้“เมนูความช่วยเหลือครัวเรือน” เพิ่มเติม, ระดับ B หมายถึง ครัวเรือนที่สามารถบูรณาการช่วยเหลือได้ในระดับอำเภอ/เทศบาล, ระดับ C หมายถึง ครัวเรือนที่มีปัญหาเกินศักยภาพการช่วยเหลือของระดับอำเภอ/เทศบาล ต้องส่ง ศจพ.จ. โดยใช้ “เมนูความช่วยเหลือครัวเรือน”
ส่วนการบันทึกเมนูความช่วยเหลือ ของ ศจพ.จ.อุบลราชธานี รวมถึงทุกหน่วยงานในระดับจังหวัด เพื่อให้ ศจพ.อ./ทน./ทม. นำไปเป็นเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายให้ตรงตามสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งหมด 37 หน่วยงาน รวม 236 เมนู ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ 33 เมนู, มิติด้านความเป็นอยู่ 20 เมนู, มิติด้านการศึกษา 32 เมนู, มิติด้านรายได้ 127 เมนู, มิติด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ 16 เมนู และมิติด้านอื่นๆ 8 เมนู
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เน้นย้ำให้ฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน ได้ดำเนินการคัดกรองและจำแนกข้อมูลครัวเรือนเป้าหมายในระบบ Logbook ควบคู่กับโปรแกรมMicrosoft Excel ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะนำไปสู่การเลือกเมนูความช่วยเหลือของหน่วยงานโดยเร็ว ก่อนส่งมอบครัวเรือนเป้าหมายให้หน่วยงานเจ้าของเมนูหรือหน่วยงานในระดับฟังก์ชั่น เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นเป็นไปตามที่แนวทางและระยะเวลาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดคือเดือนกันยายน 2565 ต่อไป
ขณะที่ นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเสนอถึงการมอบเงินและสิ่งของอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจนเป้าหมายในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดอุบลราชธานี ของชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี และเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี โดยมอบเงินให้ทุกอำเภอ ๆ ละ 1 ครัวเรือน ๆ ละ 3,000 บาท ซึ่งขณะนี้ ได้ดำเนินการมอบให้แก่ครัวเรือนบางส่วนแล้วในการลงพื้นที่เยี่ยมครัวเรือนเป้าหมายของคณะทำงานระดับจังหวัด ทั้ง 5 คณะ นอกจากนั้น ยังได้แนะนำแนวทางในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานฯ โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้อมูล, การบันทึกข้อมูล การรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงทีต่อไป
สุมาลี สมเสนาะ–ข่าว
จักรกฤษณ์ มาลาสาย–ภาพ