ตอนที่ 2 กรอ.เหนือล้านนาตะวันออกฝ่า “โควิด ขาลง” ทวงเปิดด่านค้า 3 จังหวัด พร้อมบุกเจรจาธุรกิจ – ท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอินโดจีน เส้นทาง China-Indochina Peninsula economic corridor
รายงานพิเศษโดย เปี่ยมศักดิ์ แพทยกุล
…………………
ผวจ.เชียงรายย้ำโควิด-19 เป็นช่วงขาลงแล้ว ถ้าไม่กลายพันธ์อีกเดินหน้าเศรษฐกิจเต็มที่กรอ.เหนือล้านนา ตอ. ระดมข้อมูลเร่งรัฐบาลไฟเขียว เตรียมพร้อมเปิดด่านชายแดน 3 ใน 4 จังหวัด หลังรอประเทศเพื่อนบ้านพร้อม มุ่งพัฒนาด่านส่งออกผลไม้ภาคเหนือป้อนตลาดจีน แนะช่องสะดวกใช้ Border Pass จ้างแรงงานต่างด้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศต่อจากรายงานจากตอนที่แล้ว การประชุมที่ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2/2565 กลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน โดยนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทำหน้าที่ประธานประชุมในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัด ถึงกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงกับอนุภาค GMS (Greater Mekong Subregion) เรื่องระเบียงเศรษฐกิจ จะมองเฉพาะจ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อยู่ในแผน One Belt One Road ไม่ได้ เพราะน่าน พะเยา จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ยังเป็นเส้นที่ 4 China-Indochina Peninsula economic corridor จึงเสนอให้ ครม.ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
ด้าน “ศศิธร ทนันชัย” สำนักงานพาณิชย์จ.พะเยา เสนอ 2 ประเด็นเพื่อพิจารณาบรรจุเข้าจัดทำแผนคือ ขอสนับสนุนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการค้าชายแดน และเพิ่มจุดส่งออก – นำเข้า ภาคผนวกพิธีสารว่าด้วยการกำหนดกักกันโรค และตรวจสอบการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สาม ระหว่างประเทศไทย จีนและสปป.ลาว
โดยประเด็นแรก ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดทำให้สปป.ลาว ไม่อนุญาตประชาชนทั่วไปเข้า– ออก อนุญาตเฉพาะรถยนต์บรรทุกสินค้า ส่งผลให้การเชื่อมโยงความสัมพันธ์การค้าไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ประกอบการค้าชายแดนเป็นขนาดเล็ก ยังไม่เข้าใจกฎระเบียบนำเข้า–ส่งออก และสิทธิประโยชน์การค้า – ลงทุน ประสบปัญหาการตลาด จึงกำหนดแนวทางพัฒนาช่องทางการตลาด ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจัดงานแสดงสินค้าและส่งเสริมการลงทุน เพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ด้วยวิธีการอบรมและสร้างเครือข่ายฯ เจรจาธุรกิจ และการศึกษาดูงานระบบเชื่อมต่อรถไฟลาว – จีน
ส่วนประเด็นการเพิ่มจัดส่งออก – นำเข้าฯ เนื่องจากด่านบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา มีเส้นทางการค้าเชื่อมโยงกับสปป.ลาว ทำให้เราเห็นโอกาสการค้า ลงทุน การท่องเที่ยวและlogistics หรือกระบวนการจัดการสินค้าและบริการ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านแขวงอุดมไชยเชื่อมโยงไปสู่จีนได้ แต่ด่านบ้านฮวกยังไม่มีหน่วยงานด้าน CIQ (Custom Immigration Quarantine) หรือ ผู้โดยสารขาออกที่ผ่านพิธีการศุลกากร (Custom) การตรวจคนเข้าเมือง(Immigration) และผ่านด่านตรวจกักกันพืชและสัตว์ (Quarantine) รวมถึงด่านนี้ยังไม่ได้อยู่ในภาคผนวกและนำเข้าของพิธีสารฯ ดังกล่าว รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษา EIA (Environmental Impact Assessment Report) หรือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อขออนุญาตกรมป่าไม้ให้ใช้พื้นที่ 6.5 ไร่ ใกล้จะเสร็จแล้ว โดยมีบริษัทจากต่างจังหวัดมาขออนุญาตนำออกสินค้า ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้แจ้งหนังสือถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตรฯ แล้ว
ต่อมา นายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ประธานอุตสาหกรรมกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 ได้กล่าวถึงข้อมูลโควิด-19 ที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่เศรษฐกิจค่อนข้างถดถอย รายได้ที่มาจากในประเทศเป็นไปได้ยาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาน้อย ขณะที่ กรอ.กลุ่มจังหวัดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ชายแดน 3 จังหวัด ยกเว้นจ.แพร่ ดังนั้นการประชุม กกร. หรือคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย น่าจะสร้างความชัดเจนเรื่องด่านชายแดน ที่ผ่านมาล้วนมีปัญหา
ล่าสุด มีข่าวโอกาสเปิดชายแดนเดือนพฤษภาคมนี้ ดังนั้น กกร.หรือยุทธศาสตร์จังหวัด น่าจะสร้างความชัดเจน ให้นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องและภาครัฐ จะได้เตรียมความพร้อม แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าว ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประเทศพม่าและลาว แต่ปัญหาปัจจุบันการขับเคลื่อนทั้งหมดต้องรอจากส่วนกลาง ควรหาข้อสรุปใช้ประโยชน์ Border Pass หรือหนังสือผ่านแดนสำหรับแรงงานต่างด้าวไปก่อน
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้ต้องระงับการเดินทางชั่วคราว 3 จังหวัดของกลุ่มนี้ทิศทางคล้ายคลึงกัน ขณะนี้มี 17 จังหวัดชายแดน ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเหลือ 5 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วยแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่านและอุบลราชธานี ทางกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมการมาพอสมควร เช่น จ.เชียงรายมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงหนึ่งควบคุมโควิดระบาดได้ จุดผ่อนปรนทั้งหมด 10 จุด ตั้งแต่เมียนมาถึงลาว ขอไปแล้ว 7 จุดที่มีความพร้อม ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์
“มหาดไทยให้เป็นดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่ดูแล้วสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม อาจเป็นที่การค้าระหว่างลาว จีนมากขึ้น ซึ่งแน่นอนผลกระทบที่ตามมาก็เห็นได้ชัด เจ้าแขวงบ่อแก้วสปป.ลาวได้ทำหนังสือตอบกลับมา ยินดีที่จะเปิดการค้าแต่ขอคุยกับหน่วยงานภายในก่อน จนบัดนนี้ยังไม่ตอบกลับมา” นายภาสกร ผวจ.เชียงรายในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ระบุและว่า จึงให้นายอำเภอและผู้ประกอบการชายแดนทั้งหมดช่วยกดดันทางโน้นด้วยรวมถึงด้านเมียนมาก็ไม่มีผลแต่ประการใด
ในขณะที่รัฐบาลหรือ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019) พูดคุยกันจะเปิดจุดด่านถาวรของชายแดนทั้งหมด ถามความพร้อมแต่ละจังหวัด โดยเป็นช่วงปีใหม่ที่โควิดคลัสเตอร์ต่างๆ ตามมา โอไมครอนค่อนข้างสูงเป็นความกังวล ประกอบกับปีใหม่เมืองหรือสงกรานต์ที่ผ่านมาระบาดอีกระลอกหนึ่ง เราจับตาอย่างใกล้ชิด ทำเป้าหมายฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ 50 ตามลำดับเกรงว่าคนที่กลับเยี่ยมครอบครัวจะนำเชื้อมา ดังนั้นทีมระบาดวิทยาได้ดูตัวเลขอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ สรุปแนวโน้มหลังสุด จุด Peak เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 4,054 คน ที่เหลือเป็นช่วงขาลงชัดเจน มั่นใจได้เลยว่าขณะนี้ถ้าไม่มีกลายพันธุ์เข้ามา จ.เชียงรายจะขอเปิดด่านชายแดนทั้งหมดโดยประชุมฝ่ายเกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบไปแล้ว
นายภาสกร ผวจ.เชียงราย ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่า บางคนมองทำไมไม่เปิดด่านพร้อมกันทั้งหมดตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ยืนยันว่าคำนึงถึงความปลอดภัยและเศรษฐกิจ ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ปัจจุบันเมื่อจุด Peak โควิดได้เลยไปแล้วก็หันกลับมาเรื่องเศรษฐกิจเต็มที่ โดยตนได้พูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยอย่างสม่ำเสมอ ก่อนหน้านี้ได้สอบถามรองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานประชุม พร้อมด้วย สมช.หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติกรมควบคุมโรค กรณีเตรียมความพร้อมเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน จะเปิดชายแดนลักษณะไหน ได้รับยืนยันว่าเราเปิดฝ่ายเดียว จึงยังไม่มีใครเข้า–ออก เจ้าหน้าที่จะไปก็นั่งตบยุงเฉยๆ ขณะที่การตรวจ RT-PCR (Polymerase chain reaction) หรือ ATK (Antigen test kit) ก็ยังไม่ชัดเจนด้วยเพิ่งมายกเลิกไม่ต้องตรวจเมื่อไม่นานนี้เอง
หลายแห่งไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องเอกสารเข้า – ออกไว้ และเปลี่ยนแปลงมาตรการตลอด โดยเฉพาะเอกสารที่ส่งมาจากประเทศเมียนมาเป็นภาษาพม่าล้วนๆ ไม่รู้เรื่องเลยว่าเป็นใคร ปลอมมาหรือเปล่า เพราะยังไม่มีการคุยกันระดับประเทศ
“เราเป็นมิติที่ต่างกับจังหวัดอื่น เพราะมีการค้าชายแดนต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ผมยืนยันสะพาน 2 สะพาน 4 ของจ.เชียงราย ไม่ได้ส่งผลสินค้าส่งออกกับชาวเชียงรายเท่าไหร่ เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นของส่วนกลางในประเทศ เช่น น้ำมัน เครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จนกว่าเครื่องอุปโภค – บริโภค สินค้าเกษตรจึงจะเป็นของคนพื้นที่โดยตรง
(ข่าวนี้ยังไม่จบ โปรดรอติดตามตอนต่อไป ผู้ว่าฯ เชียงรายรอจังหวะพานักธุรกิจ สภาอุตสาหกรรม – หอการค้า การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร เดินหน้าเจรจาการค้ากับจีนตอนใต้ – นครคุนหมิง มูลค่าตลาดเท่าไหร่ก็ไม่พอส่ง)