สร้างหนี้สาธารณะ: “กู้หนี้ใหม่ใช้หนี้เก่า ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม หนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหลานต้องรับกรรม”(1)
โดย “พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง” เลขาธิการพรรคประชาชาติ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ของไทยเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดขนาดของเศรษฐกิจโดยปัจจุบัน GDP ของไทยเท่ากับ 15.69 ล้านล้านบาท แต่ไทยมีหนี้สาธารณะ 8.696 ล้านล้านบาทเศษ คิดเป็นร้อยละ 55.42% ต่อ GDP (ข้อมูล 31 พฤษภาคม 2564) หรือเฉลี่ยแล้วคนไทยทุกคนเป็นหนี้ประมาณ 130,000 บาทเศษ (ยอดหนี้สาธารณะ/จำนวนประชากรไทย) ในปี2565 มีหนี้สาธารณะที่ครบกำหนดต้องชำระคืนเจ้าหนี้ จำนวน 529,918 ล้านบาท แต่รัฐบาลหารายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายหนี้ จึงต้องกู้หนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าดังกล่าว แต่ก็จ่ายได้เพียง293,464 ล้านบาท โดยแยกเป็นการจ่ายคืนเงินต้นเงินกู้จำนวน 100,000 ล้านบาทและต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ 193,464 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจบริหารประเทศทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. หรือนายกรัฐมนตรี กว่า 7 ปีที่ผ่านมา มีการกู้เพิ่มจาก 5.69 ล้านล้านบาท ในปี 2557(วันที่ 30 กันยายน 2557) เป็น 8.56 ล้านล้านบาท (ถึงเดือนเมษายน 2564) ที่เป็นการกู้เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลจากที่รัฐจัดเก็บรายได้ไม่พอกับรายจ่ายรัฐบาลตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีติดต่อกันตั้งแต่ปี2558-2564 กับการกู้หนี้ใหม่ ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท จากข้อมูลพบว่าช่วงหนึ่งปีระหว่างเดือนมีนาคม 2563 – เมษายน 2564 มีการกู้หนี้เพิ่มจำนวน 1,574,703 ล้านบาท หรือกู้หนี้เพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 100,000 กว่าล้านบาท
รัฐบาลไม่มีแนวทางการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนนอกเสียจากการกู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายคืนหนี้เงินกู้ก้อนเก่าเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือเพื่อการนำไปลงทุน ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโตช้ามาก ทำให้รัฐบาลไม่สามารถหารายได้มาชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าวได้และจะส่งผลให้หนี้เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนฯว่าเงินกู้มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 2.41 % ซึ่งดอกเบี้ยเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่นำไปสู่การล้มละลายได้