ปัญหาที่ดินไทยจะเดินหน้าไปต่อได้อย่างไร (จบ)
“พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง“
เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ที่ดินแปลงที่กำลังจะครบสัญญาเช่าที่ให้กับริษัทเอกชนรัฐต้องเตรียมรับคืนที่ดินกลับมาเพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรและผู้ยากไร้ต่อไป นอกจากที่ดินที่ตำบลบางสวรรค์แล้ว ยังมีพื้นที่ป่าที่รัฐให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนเพื่อปลูกปาล์มในแบบเดียวกันในอีกหลายแปลงจำนวนหลายหมื่นไร่ บางส่วนครบกำหนดสัญญาสัมปทานแล้ว แต่รัฐก็ยังไม่นำกลับคืนมา
แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ประเด็น “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ที่ควรต้องทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อการนำที่ดินที่ได้ให้เช่าไปกลับมาเป็นของรัฐเพื่อการปฏิรูปต่อไป
ประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320 ล้านไร่ โดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 โดยสามารถออกเอกสารสิทธิ โฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก และอื่นๆ ให้เอกชนได้ ปัจจุบันมีเอกสารสิทธิที่กรมที่ดินออกให้แก่เอกชนไปแล้วประมาณ 128 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐภายใต้กฎหมายต่างๆ
มีคำถามว่าที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิให้เอกชนไปประมาณ 128 ล้านไร่นั้น เพียงพอหรือยัง คำตอบคือ เท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้จำกัดการถือครองที่ดิน ใครรวยก็มีสิทธิซื้อที่ดินจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ และถือว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” โดยกฎหมายที่ดินทำหน้าที่เป็นกฎหมายเพื่อออกเอกสารสิทธิ ให้สิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อให้สามารถนำไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้มีการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร และไม่มีความจำเป็นต้องทำประโยชน์ในที่ดิน จึงเห็นเอกชนปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า มากมาย
ประมวลกฎหมายที่ดินของไทยไม่ได้มองว่า “ที่ดินคือปัจจัยการผลิต” หรือเป็นแหล่งผลิตอาหารให้แก่สังคม หากมองว่า ที่ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ก็จะต้องมีการลงทุนลงแรงอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดิน อันจะลดการแย่งชิงกันเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อนำมาเป็นสินทรัพย์ และจะช่วยทำให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด
ในการบุกรุกป่าและที่ดินสาธารณประโยชน์ เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดินเป็นปัจจัยหนึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการบุกรุกขึ้น เนื่องจากมาตรา 58 ระบุให้มีการเดินสำรวจออกเอกสารสิทธิ โดยเมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรจะให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในจังหวัดใดในปีใด ก็ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดจังหวัดที่จะทำการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์สำหรับปีนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินดังกล่าวจะเป็นพื้นที่อะไร
นอกจากนั้นประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินมาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย ไม่ว่าจะได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา 58 แล้วหรือไม่ก็ตาม เจ้าพนักงานมีอำนาจ นั่นคือ เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจเต็มที่ในการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3 หรือน.ส.3 ก
ดังนั้น ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 58 และ มาตรา 59 ประมวลกฏหมายที่ดิน โดยในการออกเอกสารสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส. 3 หรือ น.ส.3 ก ในที่ดินแปลงที่อาจมีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือต่อชุมชน รวมทั้งในแปลงที่มีประเด็นพิพาทอื่นๆ นั้นต้องให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่ที่ดินตั้งอยู่ได้มีส่วนร่วมในการอนุญาตออกเอกสารสิทธิและต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนหรือชุมชนด้วย
นอกเหนือจากแก้ไขมาตราดังกล่าว ควรมีการปฏิรูปประมวลกฎหมายที่ดิน ในเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดินขึ้นด้วย แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ระบุภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าไว้และจะมีผลใช้บังคับ 1 ม.ค.2563 ก็ตามแต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายว่ายังไม่ตรงเจตนารมณ์ช่วยให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน เพราะกำหนดว่าต้องมีที่ดินต้องเกิน50 ไร่ขึ้นไปจึงเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าและมีอัตราการจัดเก็บต่ำ