ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 ตรวจสอบสภาพวัสดุคล้ายหินริมหาดสมิหลา เผยพบเกลื่อนชายหาด
ในหลายจังหวัดภาคใต้ เบื้องต้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นยากแต่เกิดขึ้นได้ เป็นหินภูเขาไฟ ที่สะสมในทะเลมานานและถูกคลื่นซัดมาเกยหาด ส่งตรวจเพิ่มที่กรมทรัพย์ฯแล้วประสานท้องถิ่นจังหวัดจัดเก็บ
สภาพมุมสูง บริเวณชายหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่ทำให้มองเห็นชายหาดที่เกลื่อนไปด้วยวัสดุคล้ายหิน น้ำหนักเบา แต่ลอยน้ำได้ หรือที่เชื่อว่าเป็น หินภูเขาไฟที่ถูกซัดเข้ามาเกยชายหาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ในทะเลนั้น ยังปะปนอยู่กับน้ำทะเลที่คลื่นกำลังซัดเข้ามาอย่างชัดเจน โดยพื้นที่ 8 ตำบลของอำเภอสทิงพระ นั้น พบเห็นหินภูเขาไฟจำนวนมาก เช่นเดียวบริเวณหาดสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด ก็พบหินภูเขาไฟเป็นแนวยาวบริเวณที่คลื่นซัดเข้ามาถึง ล่าสุด นายวัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 (สงขลา) ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณหาดสมิหลา อำเภอเมืองสงขลา หลังพบว่า มีวัตถุ เกลื่อนชายหาดทั้ง 6 อำเภอ ตั้งแต่อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนครเมือง จะนะและ อำเภอเทพา ซึ่งบริเวณหาดสมิหลา ต่อเนื่องหาดชลาทัศน์ ก็พบหินเหล่านี้เกลื่อนชายหาด แต่ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวมากนัก นายวัฒนากล่าวว่า เบื้องต้นวัสดุดังกล่าวนั้นเป็น หินภูเขาไฟ ที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ลาวาพุ่งในอากาศและแข็งตัว ตกลงบนพื้นดิน หรือที่เรียกว่าหินพัมมิช ซึ่งคาดว่าสะสมอยู่ในทะเลมานานแล้ว แต่ช่วงนี้มีคลื่นลมแรง พัดเข้าชายฝั่ง ทำให้มีหินพัมมิชเหล่านี้ถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยเป็นจำนวนมาก ถือเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นยาก แต่ก็เกิดขึ้น ซึ่งหินพัมมิชนี้นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ เพียงแต่อาจจะทำให้ชายหาดไม่สะอาดตา ซึ่งได้มีการประสานกับท้องถิ่นจังหวัด เตรียมที่จะร่วมกันจัดเก็บออกจากชายหาดที่พบเห็น อย่างไรก็ตามคาดว่าอีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ ปริมาณหินภูเขาไฟที่ถูกซัดเข้ามาจะเริ่มลดน้อยลงไปแล้ว และเมื่อคลื่นลมสงบสถานการณ์ก็คลี่คลายลงไป ทั้งนี้ได้ส่งตัวอย่างหินไปตรวจซ้ำที่กรมทรัพยากรธรณีแล้ว
ส่วนการใช้ประโยชน์นั้น สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชได้ แต่เบื้องต้นนั้นคาดว่ายังมีค่าความเค็มสูง ต้องรอให้ความเค็มลดลงก่อน โดยหินพัมมิช มีแร่ธาตุต่างๆ โปตัสเซียมแคลเซียม แมกนีเซีย จำนวนมาก เป็นประโยชน์ต่อการปลูกพืช