ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อ 195 ราย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ วันนี้ (13 ม.ค. 65) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 195 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่ 15 ราย ส่วนที่เหลืออีก 180 รายเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด จากคลัสเตอร์ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 22 ราย จาก 10 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ร้าน Living Machine 4 ราย ยอดรวม 167 ราย ,ร้านท่าช้าง 4 ราย,ร้านฮอมบาร์ 3 ราย ,ร้านเสี่ยว ย่านสันติธรรม 3 ราย ,ร้านฉลุย 2 ราย ,ร้าน Zoe in Yellow 2 ราย นอกนั้นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ร้านละ 1 ราย ประกอบด้วย ผู้มีไทม์ไลน์ไปสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง ,ร้านโฟรเซ่ คาเฟ่ ,ร้านโสภา คาเฟ่ และร้านเดอะฟีนิกซ์ แม่โจ้
ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ที่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ คลัสเตอร์โรงพยาบาลเทพปัญญา 2 ราย ,คลัสเตอร์Jetts 24 Fitness 2 ราย ,คลัสเตอร์บริษัทไรทท์ทันเน็ลลิ่ง ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง 2 รายและคลัสเตอร์ตลาดวโรรส 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและเชื่อมโยงคลัสเตอร์อีก 48 ราย และผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า 103 รายขณะที่การติดเชื้อในครอบครัวยังไม่พบเพิ่ม
ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในช่วงนี้มีอายุระหว่าง 25-35 ปี รองลงมา 15-35 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน และนักศึกษา ที่มีไทม์ไลน์สัมพันธ์กับคลัสเตอร์ของร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่พบในช่วงนี้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า ต้องกักตัว และสังเกตอาการให้ครบ 14 วัน ถ้ามีอาการผิดปกติให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-10 ด้วย ATK
โดยความแตกต่างของการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และ RT-PCR คือ ถ้าพบผลบวกทั้ง 2 วิธี โดยATK จะได้รหัส ATK เรียกว่า ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ได้รับการรักษาในระบบ Home Isolation หรือCommunity Isolation โดยเร็วไม่ต้องรอผลตรวจยืนยัน แต่หากมีอาการมากขึ้นจึงจะเข้ารับการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR แต่ถ้ากลุ่มเสี่ยงมีอาการ ก็จะเข้าสู่การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ทันที หรือถ้าไม่ได้ตรวจ ATK มาก่อน ตรวจ RT-PCR เลย โดยจะใช้เวลารอผลตรวจประมาณ6-24 ชั่วโมง โดยทางโรงพยาบาลจะออกรหัส CM ให้ เรียกกว่า ผู้ติดเชื้อยืนยัน ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล
สำหรับผู้ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา หรือตรวจATK ด้วยตนเองแล้วผลเป็นบวก สามารถโทรเข้าไปแจ้งได้ 2 ช่องทาง คือ 1) สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ตลอด 24 ชั่วโมง และ 2) ศูนย์ประสานงาน ATK ระดับจังหวัดที่หมายเลขโทรศัพท์ 065-4724315, 065-4724316, 065-4724317, 065-4724318 และ 065-4724319 ส่วนระดับอำเภอสามารถโทรเข้าไปได้ตามหมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ประสานงานATK ระดับอำเภอ ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 – 20.00 น. หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนัดหมายให้เข้ามาตรวจคัดกรองอาการ ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จะแนะนำให้แยกกักที่บ้าน หรือHome Isolation ถ้าบ้านไม่เข้าเกณฑ์ก็จะส่งเข้าสู่การแยกกักในชุมชน หรือ Community Isolation โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลติดตามอาการทุกวัน ถ้าอาการแย่ลง หรือไม่ดีขึ้น อาทิ มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ หายใจเหนื่อยหอบ ฯลฯ ก็จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ด้านผู้เสียชีวิต พบเพิ่มอีก 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 ราย ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยรายแรกเป็นชายไทย อายุ 88 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และไตวาย ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อไม่ชัดเจน วันที่ 3 ธันวาคม เริ่มมีอาการไอ ครั่นเนื้อครั่นตัว ตรวจ ATK ผลเป็นบวกวันที่ 4 ธันวาคม เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำพูนใกล้หมอ วันที่ 20 ธันวาคม เหนื่อยหอบมากขึ้น ออกซิเจนในเลือดต่ำ ส่งต่อไปรักษาโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ วันที่ 2 มกราคม ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน วันที่ 8 มกราคม ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตลง
ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 70 ปี มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงโรคหัวใจ และเกาต์ ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อไม่ชัดเจน วันที่ 19 ธันวาคม เริ่มมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ มีน้ำมูก หายใจเร็ว ตรวจ RT-PCR ยืนยันติดเชื้อโควิด รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ วันที่ 9 มกราคม มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้น ออกซิเจนในเลือดต่ำต้องใส่ท่อช่วยหายใจวันที่ 12 มกราคม ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต
ย้ำผู้ที่ผลตรวจ ATK เป็นบวกและไม่มีอาการจะให้เข้าระบบ Home Isolation ทันที พร้อมทีมแพทย์ประเมินอาการอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนมากอยู่ในกลุ่มอายุ 15-25 ปี มีประวัติสัมพันธ์กับคลัสเตอร์ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ย้ำผู้ที่ตรวจ ATK ผลเป็นบวกและไม่มีอาการจะให้เข้าระบบ Home Isolation ทันที พร้อมทีมแพทย์ประเมินอาการอย่างใกล้ชิด
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
13 มกราคม 2565