นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบความพร้อม “รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู”
เตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี จะมาร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ก่อนเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ปลายเดือนพฤศจิกายน นี้
วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี(MRT สายสีชมพู) โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์นบางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯก่อนกำหนดเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตลอดเส้นทางครบทั้ง 30 สถานีประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ให้สามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้โดยเร็ว เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ ยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ตามนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยในวันนี้ ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม Trial Run เส้นทางจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) โดยระบบการเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดเส้นทาง จากนั้น ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของโครงการฯ เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยในบริเวณ 3 สถานี ได้แก่
– สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PP11) ของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area ระหว่างชั้นออกบัตรโดยสาร (Concourse Level) ของสองสถานี มีทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) และทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Walkalator) ระยะทางประมาณ 346 เมตร
– สถานีหลักสี่ (PK14) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีหลักสี่ (RN06) ของรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ในการกำกับของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเป็นการเชื่อมต่อประเภท Unpaid to Unpaid Area จากชั้นออกบัตรโดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่ระดับดิน ใช้สะพานลอยคนข้ามไปยังชั้นออกบัตรโดยสารของรถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) มีระยะทางเดินเชื่อมต่อประมาณ 180 เมตร
– สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เชื่อมต่อกับ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะฯ ได้ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างทางเดินเชื่อมต่อ (Skywalk) ระหว่างสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ(PK12) ชั้นออกบัตรโดยสาร ฝั่งทางออกที่ 3 กับ อาคารจอดรถของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ระยะทางเชื่อมต่อประมาณ 213 เมตรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่มาติดต่อกับหน่วยงานภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้ รฟม. เร่งรัดการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานในส่วนต่างๆ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้มีความพร้อมในทุกด้านอย่างเต็มที่ ทั้งงานระบบรถไฟฟ้า การพัฒนาจุดเชื่อมต่อ การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีอย่างครบถ้วน ตลอดจนการจัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ภายในสถานี เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนตุลาคม2566) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ98.30 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 99.24 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 98.78 โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน2566 นี้ และคาดว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
สำหรับ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นโครงการฯ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาพร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือและจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น30 สถานี ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำสถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ดสถานีแจ้งวัฒนะ–ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอนสถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี รถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี นั้น มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร ปัจจุบัน(ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566) มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 41.76 งานระบบรถไฟฟ้า(M&E) ร้อยละ 23.34 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 35.56 ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.mrta-pinkline.com และ Line : @MRTPinkLine และเฟซบุ๊กโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี หรือติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”