คุ้มทำเทียนพรรษา วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ในวันสุดท้าย ก่อนจะถึงวันรวมเทียนในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักและรอยยิ้มของชาวสายบุญผู้มีจิตศรัทธา ที่ต่างมาร่วมกันแกะเทียนพรรษาโดยส่วนมากเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่อยู่ในละแวกคุ้มวัด และชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้กลับมาเยือนบ้านเกิดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้
โดยมาจากหลายสารทิศ ทั้งจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร รวมถึงพระภิกษุสงฆ์ และผู้คนทุกวัย ต่างมาร่วมรวมใจกันแกะเทียนด้วยความตั้งอกตั้งใจ หวังจะได้ร่วมบุญและเป็นส่วนหนึ่งงานประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจยิ่งของชาวจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังมีมัคคุเทศก์อาสา เป็นนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี มาร่วมช่วยต้อนรับและแนะนำผู้มาเยือนด้วยความใส่ใจและกระตือรือร้น โดยบางส่วนยังไปช่วยเป็นลูกมือของช่างทำเทียนอีกด้วย
ในขณะที่ อาจารย์ป้อม หัวหน้าช่างทำเทียน ที่ทำเทียนประจำคุ้มวัดแจ้งมากว่า 38 ปีกล่าวว่า ทีมช่างทำเทียนกำลังเร่งเก็บรายละเอียดต้นเทียนแห่พรรษาแบบติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ในโค้งสุดท้าย โดยที่ผ่านมา ต้นเทียนพรรษาของคุ้มวัดแจ้งได้รับรางวัลชนะเลิศเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ในปี 2558 และปี 2560
ซึ่งขณะนี้ การทำเทียนพรรษาของวัดแจ้ง รุดหน้าไปกว่า 98% โดยในปี 2566 นี้ คุ้มทำเทียนวัดแจ้งได้กลับมาทำต้นเทียนพรรษาแบบติดพิมพ์ ที่เป็น signature ของคุ้มวัดแจ้ง หลังจากที่ปีก่อน เลือกทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก เนื่องจากไม่มีเวลาที่เพียงพอ
ด้าน อาจารย์โก้ ครูเชี่ยวชาญ สอนศิลปะที่ โรงเรียนนาส่วงวิทยา อำเภอ เดชอุดม ผู้ทำต้นเทียนมากว่า 40 ปี และได้มาช่วยทำเทียนที่คุ้มวัดแจ้งนี้ มากว่า10 ปี เผยว่า ในปีนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีให้ความสนใจในประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีมากขึ้นกว่าปีก่อน
โดยได้เห็นพัฒนาการของชาวจังหวัดอุบลราชธานี จากที่เดิมชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะแค่เข้ามาเยี่ยมชมคุ้มทำเทียน ต่อมาก็ได้เข้ามาช่วยทำแกะเทียนประเภทติดพิมพ์และในปีนี้ ชาวอุบลราชธานีอยากจะมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม โดยมีการสนใจมาเรียนรู้วิธีรีดเทียน และเข้ามาช่วยเป็นลูกมือ เพราะอยากจะเข้าใจและสามารถไปอธิบายให้คนอื่นเข้าใจถึงประเพณีที่ชาวอุบลราชธานีภาคภูมิใจได้อย่างถ่องแท้ และอยากจะช่วยกันสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่ช่วยส่งเสบียงอาหาร มาช่วยเป็นกำลังใจและเติมพลังกายให้ช่างทำเทียนที่คุ้มวัด ดังเช่นทุกๆปีที่ผ่านมา เนื่องจากช่างทำเทียนพรรษาที่คุ้มวัดแจ้งไม่มีค่าแรง ต่างมารวมกันทำเทียนพรรษาด้วยจิตศรัทธา
ทั้งนี้ ได้มีการร่วมวางแผนการทำเทียนพรรษากันมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 และเริ่มขึ้นหุ่นเทียนในเดือนมีนาคม และดำเนินการเก็บลาย ตัดลาย โดยปีนี้ ถือว่า คุ้มทำเทียนวัดแจ้งมีความพร้อมมากกว่าเดิม เพราะมีการขยายบริเวณทำเทียนพรรษาของคุ้มวัด และมีประชาชนเข้ามาร่วมและให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น
สำหรับในปีนี้ อำเภอโพธิ์ไทรยังได้ส่งต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก มาตั้งร่วมกันทำ ที่คุ้มวัดแจ้ง และมีช่างทำเทียนตัวน้อย ที่อายุเพียงสิบปี ได้เข้ามาร่วมทำเทียนพรรษาด้วยความขมีขมันตั้งใจเป็นปีแรก เป็นที่น่าเอ็นดู และช่วยเรียกเสียงชื่นชมได้จากผู้เข้ามาเยือนเป็นอันมากอีกด้วย
นี่คือบรรยากาศของความน่าประทับใจ และความสวยงามของเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ทีม UBON Insider เก็บมาฝาก เราได้เห็นพลังแห่งความรักและความสามัคคีของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาในการร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีในโค้งสุดท้ายก่อนวันรวมเทียนและคืนการแสดงแสง เสียง ของขบวนแห่เทียนภาคกลางคืนในวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม2566 และวันขบวนแห่เทียนพรรษา ภาคกลางวัน ใน วันที่ 2 สิงหาคม 2566
ห้ามพลาดชมความงามของประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่ปีนี้ครบรอบ 122 ปี ภายใต้แนวคิด “122 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” ร่วมสืบสานประเพณีวิถีวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไป
#แห่เทียนพรรษาอุบลฯ #แห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี #122 ปี แห่เทียนพรรษาอุบลฯ#122 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา #Ubon Candle #Ubon Insider #วัดแจ้งอุบลฯ #วัดแจ้ง #แห่เทียนอุบล2566