จีนศึกษา ๓๑๔ จีนกับประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขง
บทบาทและท่าทีเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือล้านช้าง–แม่โขง ในการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ตามแผนปฏิบัติการ ๕ ปีสำหรับความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) กล่าวคือ
โดยหลักการพื้นฐานของแผนปฏิบัติการฉบับดังกล่าว ซึ่งได้รวบรวมความต้องการด้านการพัฒนาของ ๖ ประเทศในกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง อันได้แก่ประเทศกัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม รวมทั้งการมีกระบวนการบูรณาการในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด โดยการดำเนินงานตามโครงการและสำรวจรูปแบบความร่วมมืออนุภูมิภาคใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของหกประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนี้จะอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันการปรึกษาหารือและการประสานงานซึ่งกันและกันการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจ ภายใต้แนวคิดในการร่วมสร้างและการแบ่งปัน การเคารพกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับและกฎเกณฑ์ภายในประเทศของแต่ละรัฐสมาชิก
ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ โดยมุ่งดำเนินงานออกแบบการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดทำ “แผนปฏิบัติการห้าปีสำหรับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ” เพื่อเจรจาและแก้ไขปัญหาที่มีความกังวลร่วมกัน ได้แก่
๑. การเสริมสร้างการเจรจาเกี่ยวกับนโยบายทรัพยากรน้ำและจัดฟอรัมความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่โขงเป็นประจำ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่โขง และทำให้เป็นเวทีความร่วมมือที่ครอบคลุมสนับสนุนความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง – แม่โขง
๒. การส่งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการอนุรักษ์น้ำดำเนินการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนจัดการดำเนินโครงการสาธิตการพัฒนาทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยีการป้องกันอย่างยั่งยืนและโครงการความร่วมมือที่มีลำดับความสำคัญ
๓. การเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและดำเนินการฝึกอบรมแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานในสาขานี้ โดยการพัฒนาและปรับปรุงระบบตรวจสอบคุณภาพน้ำที่เปิดให้บริการสำหรับประเทศในกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขงรวมทั้งเสริมสร้างการแบ่งปันข้อมูลและสารสนเทศ
๔. การเสริมสร้างการจัดการในภาวะฉุกเฉินของอุทกภัยและภัยแล้ง โดยดำเนินการประเมินร่วมกันของการควบคุมน้ำท่วมและการบรรเทาภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำโขงและดำเนินการวิจัยร่วมกันเกี่ยวกับการจัดตั้งช่องทางการแบ่งปันข้อมูลและการสื่อสารในช่วงแรกสำหรับภัยพิบัติน้ำท่วมและภัยแล้งในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง
ดังนั้น ตามกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในขณะที่จีนและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังคงเสริมสร้างการพัฒนาแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเขื่อนของประเทศต่างๆ ก็ประสบกับวิกฤตความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยังขาดการสื่อสารหรือกลไกการจัดการน้ำที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือระดับน้ำลดลงที่เกิดจากต้นน้ำของภัยแล้ง ดังนั้น การจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้านน้ำอย่างยุติธรรมและสมเหตุสมผล รวมทั้งการป้องกันผลกระทบด้านลบจากภัยแล้งและอุทกภัยที่ปลายน้ำ กลไกความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขงจึงมุ่งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์วิจัยทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานการแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาของแม่น้ำและการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศสมาชิก โดยจีนมีท่าทียินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาของแม่น้ำกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นและสร้างความสัมพันธ์แบบร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.xinhuanet.com/world/2018-01/11/c_1122240868.htm และเว็บไซต์http://www.wkxb.ynu.edu.cn/html/2019/2/20190216.html รวมทั้งเว็บไซต์https://iir.sass.org.cn/_upload/article/files/11/52/fa4c3e354353971dca1e680cf1fa/853c9484-49ca-4357-8adf-234862277079.pdf และเว็บไซต์http://sc.xfafinance.com/html/BR/Policy/2018/259927.shtml ตลอดจนเว็บไซต์ https://chinadialogue.net/zh/1/43928/ และเว็บไซต์http://djh.168tex.com/2018-1-27/958763.html )