“ปวีณา” พาตัวแทนเหยื่อถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นปลอม 12 ราย จากกว่า 70 ราย พบ “รมว.ประเสริฐ” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดีและหาแนวทางช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายกว่า 70 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท “รมว.ประเสริฐ” รับเรื่องมอบให้ตำรวจไซเบอร์ดำเนินการทันที เตรียมนำเรื่องเสนอนายกฯ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา พร้อมขันน็อตเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก X และแพลตฟอร์มอื่นๆ เพิ่มข้อมูลในการให้ AI ตรวจจับโฆษณาหลอกลวงประชาชนสั่งบล็อกทันที
วันที่ 25 ม.ค.67 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางปวีณาหงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พาตัวแทนผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ผู้เสียหายทั้งหมดกว่า 70 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท เข้าพบ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นตำรวจไซเบอร์ ตำรวจกองปราบปราม เร่งดำเนินคดีและหาแนวทางช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายพร้อมทั้งหามาตรการกวาดล้างกระบวนการอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เป็นภัยร้ายแรงของชาติให้หมดสิ้นไป
สืบเนื่องจากกลุ่มผู้เสียหายได้รวมตัวกันเข้าร้องทุกข์ต่อนางปวีณา ตั้งแต่วันที่ 17 -24 ม.ค. 67 มีตัวเลขความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท จำนวนกว่า 70 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้นจึงถูกชักชวนทางเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจีทวิสเตอร์ ต่างๆ ให้เข้าศึกษาเรื่องการเทรดหุ้น โดยใช้รูปของเหล่า อาจารย์ ที่มีชื่อเสียงในวงการตลาดหุ้นไทยมาหลอกลวง และแนะนำให้เปิด พอร์ต การลงทุนกับโบกเกอร์ปลอม โดยจะมีบุคคลที่อ้างเป็นผู้ช่วยอาจารย์ให้ซื้อ–ขายหุ้นตามคำชี้แนะ ให้โอนเงินเข้าบัญชีของโบกเกอร์ปลอมเพื่อนำไปซื้อหุ้นเหยื่อจะหลงเชื่อเนื่องจากตรวจสอบแล้วหุ้นดังกล่าวมีการปรับตัวตามภาวะตลาดจริง แต่เมื่อเหยื่อจะทำการถอนเงินลงทุนก็ไม่สามารถถอนได้จึงรู้ว่าถูกหลอก ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วงว่าปัจจุบันนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์โฆษณาชวนเชื่อจัดการอบรมสัมมนาจากขบวนการหลอกลวงอยู่ในโซเชียลอย่างแพร่หลาย โดยเป็นลักษณะของบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนเทรดหุ้นปลอมทั้งระบบ
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กล่าวว่า
เรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้ายแรงสร้างความเสียหายทั่วโลก ผู้ตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมหาศาล บางคนต้องกู้เงิน ขายบ้าน เอาบ้านที่ดินไปจำนอง ขายทรัพย์สินเอาเงินมาลงทุนจนหมดตัว หลังเจอปัญหาหลายคนไม่มีเงินให้ลูกเรียน เครียดหนัก จนเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย จึงขอเรียนเสนอ รัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เพื่อมอบนโยบายดังนี้
(1.) ดำเนินการกวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพ อาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป
(2.) ขอให้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ความรู้กับประชาชนถึงพฤติกรรมอาชญากรรมออนไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์อีกต่อไป
(3.) ขอมอบเอกสาร เหยื่อผู้เสียหายกว่า 70 ราย ให้ท่านรัฐมนตรี ประเสริฐ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามคดีและให้ความช่วยเหลือตามที่ผู้เสียหายร้องขอต่อไป
วันนี้ นางปวีณา พาตัวแทนผู้เสียหาย 12 ราย จาก 70 ราย เข้าพบรัฐมนตรีประเสริฐประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดีและหาแนวทางช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายกว่า 70 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท พร้อมทั้งหามาตรการกวาดล้างกระบวนการอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เป็นภัยร้ายแรงของชาติให้หมดสิ้นไป
ตัวอย่างผู้เสียหาย 2 ราย ให้รายละเอียดดังนี้
1.น.ส.เอ (นามสมมุติ) และผู้เสียหายสูญเงินไปกว่า 8 ล้านบาท ได้ให้ข้อมูลว่า มีความสนใจเรื่องการลงทุนเทรดหุ้นอยู่แล้วและได้พบเห็นโฆษณาสอนการลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยอาจารย์ชื่อดัง และนักลงทุนที่มีชื่อเสียงเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยในโซเชียล ทั้งในเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจี ทวิสเตอร์ บางรายมีการเก็บค่าลงทะเบียนแต่บางรายอ้างว่าขอแบ่ง 18 เปอร์เซ็นต์ให้อาจารย์ผู้สอนหลังมีกำไร
ส่วนพฤติกรรมการหลอกลวงจะสร้างความน่าเชื่อถือ โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะสร้างหน้าพอร์ตปลอมขึ้นมาให้เหมือนแอปพลิเคชั่นและให้ผู้เสียหายกดลิงก์โหลดเข้าในมือถือ ดูความเคลื่อนไหวของหุ้นซึ่งเป็นของจริง แต่การโอนเงินไปลงทุนเป็นการโอนเข้าบัญชีม้า และไม่มีการซื้อหุ้นจริง ผู้เสียหายจะเห็นตัวเลขเงินลงทุนและกำไร แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ เมื่อตรวจสอบพบว่าชื่อบัญชีที่โอนเงินไปลงทุนมีหลายแพลตฟอร์มปลายทางเป็นชื่อบริษัท และชื่อเจ้าของบัญชีเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน จึงเชื่อว่าจะเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำเป็นขบวนการ ขณะที่ผู้เสียหายแต่ละคนสูญเงินไปจำนวนมากตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน บางคนสูงสุด 8-12 ล้านบาท รวมผู้เสียหาย 70 ราย เสียหายกว่า 91 ล้านบาท
2.น.ส.บี (นามสมมุติ) อายุ 50 ปี อาชีพทำธุรกิจส่วนตัว 1 ในผู้เสียหาย ผู้สูญเงินไปเกือบ 2 ล้านบาท กล่าวว่า ตนเองมีความสนใจในการลงทุนเทรดหุ้น และสามีเพิ่งเกษียณจากการทำงานได้เงินมาก้อนหนึ่งจึงอยากลงทุนเพื่อหารายได้ ต่อมาช่วงปลายเดือนส.ค.66 ได้พบเพจเฟซบุ๊กสอนลงทุนซื้อหุ้นฮ่องกงฟรี โดยมีโปร์ไฟล์เป็นรูปเซียนหุ้น ชื่อดังเกี่ยวกับการลงทุนคนหนึ่ง จึงกดเข้าไปทางแอดมินให้แอดไลน์กลุ่มซึ่งมีสมาชิกในห้องเรียน 50 คน มีการส่ง E-book มาให้ศึกษา และใช้ข้อความสอนทางไลน์อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ซึ่งการสอนจะไม่มีค่าลงทะเบียน
ตลอดเวลาจะมีสมาชิกในกลุ่มไลน์โน้มน้าวว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ดีน่าลงทุน จากนั้นจะมีคนที่อ้างตัวเป็นอาจารย์แนะนำคอนแทคให้เป็นโปรกเกอร์และให้แอดไลน์คุยกันพร้อมกดลิงก์โหลดแอปพลิเคชั่นที่เป็นรูปตัว T ในแอปฯ จะสามารถดูหน้าพอร์ต ดูการเคลื่อนไหวของหุ้น และจำนวนเงินเข้าออกเป็นเรียลไทม์ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ และอาจารย์จะคอยบอกให้ลงทุนหุ้นตัวที่แนะนำ ซึ่งก็มีกำไรจริง และเคยถอนเงินได้จริง
แต่พอถอนได้ไม่นานสมาชิกในกลุ่มไลน์ซึ่งคาดว่าจะเป็นหน้าม้าก็จะบอกให้รีบลงทุนหุ้นตัวต่อไปอีก จากลงทุนทีละแสนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกชักจูงให้ซื้อหุ้นตัวอื่นตลอดเวลา จนตัวเลขในบัญชีมีเงินถึง 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินทุน 1.6 ล้านบาท จึงมีความคิดว่าจะถอนเงินออกมา แต่สุดท้ายก็ถอนไม่ได้ และรู้สึกผิดสังเกตว่าทำไมในกลุ่มไลน์สมาชิกทุกคนต่างออกจากกลุ่มกันหมด และบัญชีที่โอนเงินลงทุนไปแต่ละครั้งจะเปลี่ยนชื่อไปตลอดเวลา
นอกจากนี้ตนยังได้ไปสอบถามที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่อาจารย์เคยบอกว่าจะมีการจัดสัมมนาในอีก 2 เดือนข้างหน้า ปรากฎว่าไม่มีจริง ระหว่างนั้นก็ได้เจอผู้เสียหายรายอื่นๆไปสอบถามที่โรงแรมเช่นเดียวกันจึงรู้ว่าถูกหลอกแน่แล้ว ตนจึงได้ไปแจ้งความที่สภ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ก่อนจะรวมตัวกับผู้เสียหายรายอื่นๆ ตั้งกลุ่มไลน์เพื่อรวบรวมข้อมูลเข้าร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ
โดยในวันนี้ น.ส.เอ , น.ส.บี (นามสมมุติ) ตัวแทนผู้เสียหายได้ขอเสนอความช่วยเหลือดังนี้
(1.)ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบการโอนเงินระหว่างประเทศของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาในหลอกลวงเพื่อการลงทุนเทรดหุ้นที่เชื่อว่ามีการนำเงินที่ถูกหลอกไปลงทุนต่อในตลาดคริปโต บิทคอยน์ ในต่างประเทศเพื่อการฟอกเงินสีเทาให้ถูกกฎหมาย
(2.) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กวดขันการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพที่ถูกอายัดแล้วไม่ให้เปิดใหม่ได้อีก
(3.)ขอให้ทุกธนาคาร ส่งเอกสารหลักฐานเส้นทางการเงินให้กับสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ เพื่อประกอบสำนวนคดีได้อย่างรวดเร็ว
(4.)ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีการตรวจสอบการซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการชักชวนให้ลงทุน แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ และแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงในสังคม
วันนี้นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้ร่วมประชุมกับ นายประเสริฐ จันทรรวงทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.ต.ต.มณเฑียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท. นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ต.อ.ไพโรจน์ หมื่นกล้าหาญ รอง ผบก.ตอท. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียหายและหามาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อกลุ่มวิชาชีพ
จากนั้นนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้มอบเอกสาร 2 ชุด ซึ่งเป็นข้อมูลของผู้เสียหาย 70 กว่าราย ให้กับ นายประเสริฐ จันทรรวงทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนอีกชุดเพื่อให้นายประเสริฐมอบให้กับพล.ต.ต.มณเฑียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท. ขยายผลและทำการสอบสวนผู้เสียหายเพิ่มเติมพร้อมกับเช็คเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ
นายประเสริฐ จันทรรวงทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่า ขอบคุณ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยทางกระทรวงดิจิตอลจะจับมือร่วมการทำงานกับมูลนิธิปวีณาฯ ในการช่วยเหลือประชาชน หลังรับเรื่องวันนี้ได้ส่งมอบข้อมูลให้กับ พล.ต.ต.มณเฑียร พันธ์อิ่ม รองผบช.สอท. เพื่อนำไปสอบสวนผู้เสียหายเพิ่มเติมและเช็คเส้นทางการเงินบัญชีม้าและจะประสานธนาคารแห่งประเทศไทยในการตรวจสอบบัญชีโดยเร็ว และจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหา
ส่วนกรณีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชนยอมรับว่ามีมากจริงๆทางกระทรวงดิจิทัลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมกับทางเฟซบุ๊กอยู่ตลอดในการบล็อกโฆษณาเหล่านี้ โดยทราบว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีการทำโฆษณาเปลี่ยนหน้าตารูปแบบอยู่ตลอดเพื่อให้ AI จับไม่ได้และก็ซื้อโฆษณาเข้ามาอีก ซึ่งทางแพลตฟอร์มต้องเพิ่มข้อมูลในการตรวจจับมากขึ้นและทางกระทรวงดิจิทัลต้องประชุมขันน็อตอยู่ตลอด
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ กล่าวว่า แก๊งมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนก่ออาชญากรรมออนไลน์ใช้วิธีการโฆษณาในโซเชียลเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว มีผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งทางกระทรวงดิจิตอลมีงบประมาณน้อย เพราะฉะนั้นต้องเสนอนายกรัฐมนตรีให้ประชาสัมพันธ์สู้กับแก๊งมิจฉาชีพ และให้ กสทช. สื่อมวลชนมาร่วมกันประชาสัมพันธ์ด้วย โดยมูลนิธิปวีณาฯ จะจับมือร่วมกันทำงานกับกระทรวงดิจิทัลต่อไป