มูลนิธิปวีณา ขอเชิญชวนคนไทยทุกท่าน ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ
วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ขอเชิญชวนคนไทยทุกท่าน ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ก่อตั้งปี 2542 เป็นระยะเวลา 24 ปี รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 166,267 ราย เราได้เห็นปัญหาเด็ก สตรี ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมทุกรูปแบบเข้าร้องทุกข์ ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกดขี่ข่มเหงทั้งร่างกายและจิตใจ ถูกข่มขืน ทารุณกรรมทำร้ายร่างกาย บังคับค้ามนุษย์ค้าประเวณี แรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเยี่ยงทาส
ปี 2565 มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) รับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 6,745 ราย เป็นเรื่องสตรีและเด็กที่มีความสำคัญ คือ เรื่องข่มขืน 944 ราย ทำร้ายร่างกาย 961 ราย ถูกบังคับค้ามนุษย์ค้าประเวณี 255 ราย แรงงานที่ไม่เป็นธรรมถูกเอารัดเอาเปรียบ 143 ราย ปัญหาครอบครัว 1,432 ราย เป็นเรื่องที่น่าห่วงโดยสถิติทำร้ายร่างกาย 961 รายนั้น สถิติสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ สามีทำร้ายร่างกายภรรยาเนื่องจากเสพยาเสพติด
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) ได้เล็งเห็นความสำคัญ ให้การปกป้องช่วยเหลือ เด็กและสตรีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทุกรูปแบบ ครบวงจร One Stop Service และประสบความสำเร็จโดยได้รับความร่วมมือบูรณาการร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านได้ช่วยกันปกป้องสิทธิเด็กและสตรี ให้ได้รับความเสมอภาค ความเป็นธรรม และดำเนินชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกับผู้ชายเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติร่วมกัน
ประวัติวันสตรีสากลของไทย
วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2532 ประเทศไทยจึงได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.) ในรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในสังคม รวมทั้งระลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้เพื่อให้ได้ ซึ่งความเสมอภาค ยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนา ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งให้เห็นความสำคัญของสุภาพสตรีเช่นกัน นับตั้งแต่นั้นมา วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองเนื่องในวันสตรีสากลด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จัก และเห็นความสำคัญของวันสตรีสากล
ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อเวทีโลกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี โดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการและกิจกรรมต่างๆในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย
.
วันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันที่เหล่าสตรีจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา อาชีพใด จะร่วมเฉลิมฉลองความเสมอภาคที่ได้รับมา และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมอีกด้วย การจัดกิจกรรมงานวันสตรีสากลนั้น เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้อันยาวนาน กว่าจะได้อิสระ และความเท่าเทียมกับผู้ชาย
วันสตรีสากลจึงไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย กลุ่มสตรีจากทุกทวีปไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมืองก็ตามได้รวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้