พ่อพิการทนเห็นลูกสาวติดยาคลั่งไม่ไหว ร้อง “ปวีณา” ช่วย!!
ห่วงไปทำชาวบ้านเดือดร้อนก่อเหตุสลด “ปวีณา” ส่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาฯ รับตัวพาเข้าบำบัดยาเสพติดทันที พร้อมดูแลค่าใช้จ่ายและติดตามอาการหวังให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข
วันที่ 26 ส.ค.65 นายดำ (นามสมมุติ) อายุ 63 ปี พิการทางการเคลื่อนไหว อาศัยอยู่ย่านทุ่งครู กรุงเทพฯ ร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี แจ้งว่า ลูกเขยมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับแก๊งค้ายาเสพติดจึงนำยาบ้ามาให้ น.ส.เปรี้ยว (นามสมมุติ) ภรรยา ซึ่งเป็นลูกสาวของตนอายุ 36 ปี เสพจนติดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และขณะนี้ลูกเขยก็ถูกจับคดียาเสพติดและลักทรัพย์อยู่ในเรือนจำ
ตอนนี้น.ส.เปรี้ยว ลูกสาวของตนมีอาการทางสมองอย่างเห็นได้ชัด เวลาต้องการเสพยาก็จะมาอาละวาดขอเงินพ่อ บางครั้งน.ส.เปรี้ยว ก็จะนั่งพูดคนเดียว เหม่อลอย และควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้าน เวลาที่ลูกมีสติก็บอกกับตนว่าอยากจะไปบำบัดให้หาย แต่ตนเองฐานะยากจนที่อยู่ได้เพราะเบี้ยคนชราและเบี้ยคนพิการ จึงขอให้มูลนิธิปวีณาฯ ช่วยลูกสาวของตนด้วย
หลังรับเรื่อง นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาฯ นำข้าวสารและอาหารแห้งไปมอบให้นายดำที่บ้านย่านทุ่งครุ ก่อนจะพานายดำและน.ส.เปรี้ยว เดินทางไปที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี – สบยช. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ เพื่อให้น.ส.เปรี้ยวได้เข้ารับการบำบัดรักษา
โดยทางมูลนิธิปวีณาฯ ได้ประสานโรงพยาบาลธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลต้นสังกัดที่น.ส.เปรี้ยว ใช้สิทธิรักษา 30 บาท เพื่อทำใบส่งตัวเข้าบำบัดรักษาตามขั้นตอน โดยแพทย์โรงพยาบาลธัญญารักษ์ แจ้งว่า น.ส.เปรี้ยว ต้องใช้เวลาในการบำบัดอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนจะประเมินอาการอีกครั้ง ทั้งนี้มูลนิธิปวีณาฯ ได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสิทธิการรักษา 30 บาท ที่ต้องจ่ายให้กับทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์เดือนแรกประมาณ 8,400 บาท และมูลนิธิปวีณาฯ จะติดตามอาการของน.ส.เปรี้ยวเป็นระยะต่อไป
นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาฯ กล่าวว่า จากสถิติมูลนิธิปวีณาฯ ปี 2564 พบปัญหาทารุณกรรม/ทำร้ายร่างกาย 994 ราย, ปัญหาครอบครัว 1,510 ราย และปัญหายาเสพติด 265 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากคนในครอบครัวที่ติดยาเสพติดและใช้ความรุนแรง สำหรับปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชนประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน หลังผู้เสพได้รับการบำบัดยาเสพติดแล้วต้องมีการฝึกงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อที่จะไม่ย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก และกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข