ผู้แทน 22 ประเทศ ประกาศความร่วมมือในเวที SAMVAD ครั้งที่ 4 ใช้หลักพุทธและฮินดู เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
ผู้แทน 22 ประเทศ และหลายหน่วยงาน ร่วมในเวทีการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาติ โดยเน้นย้ำความร่วมมือ โดยใช้หลักพุทธศาสนาและฮินดู เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและตระหนักถึความสำคัญของสิ่งแวดล้อมนำไปสู่ความยั่งยืนในศตวรรษแห่งธรรม
การประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 หรือ สัมวาทะ เป็นเวทีของการสนทนา พูดคุยเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการสนทนาอย่างมีเมตตา ลดความขัดแย้ง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จัดโดย Vivekananda International Foundation (VIF) ประเทศอินเดีย ,สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 , มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ,International Buddlust Confederation (IBC) ,มูลนิธิอินเดียและญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น การประชุมเริ่มขึ้นด้วยการสวดมนต์จากพราหมณ์ฮินดู เพื่อขอให้ทุกคนเห็นถึงความดีงามของโลกและให้ค้นพบความจริง ที่ทำให้หลุดออกจากอวิชชาหรือความไม่รู้
จากนั้นเป็นการเจริญพระพุทธมนต์และให้พรโดยพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการเจ้าคณะภาค 11 พร้อมทั้งกล่าวกับผู้ร่วมงานถึงการปฏิบัติศาสนกิจมาอย่างยาวนานในบทบาทของพระธรรมทูต เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้จำเพาะเพียงพุทธศานิกชนและยังประโยชน์แก่มนุษย์ทั่วโลกแม้ต่างเชื้อชาติ ศาสนา เพ่อให้พ้นจากทุกข์ที่เป็นเครื่องเศร้าหมอง และการเผชิยกับโลกยุคใหม่ที่ช่วงชิงอำนาจ สงคราม ภายใต้สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายมาเนิ่นนาน การประชุมครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นศตวรรษแห่งเอเชียที่มนุษย์จะร่วมกันเสริมสร้างความเข้าใจอันดี และร่วมมือกันสร้างสันติภาพ ย้อนยุคปลุกอุดมการณ์จากอินเดีย ต้นทางอู่อารยธรรมของหลักธรรมคำสอน ยกระดับศตวรรษโลกให้เป็นศตวรรษแห่งธรรม
พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล กล่าวแสดงทัศนคติในยุคสมัยที่มีความขัดแย้งและแตกต่างที่มีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสันติภาพที่ริบหลี่ลง
แต่ด้วยแผ่นดินพุทธภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าได้ให้กำเนิดดวงตาแห่งธรรมกับชาวโลก ทำให้เกิดสันติธรรมที่เน้นการไม่เบียดเบียนว่าร้าย โยงใยจิตใจที่เข้มแข็งบริสุทธิ์ ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีการประกาศเผยแผ่ธรรมโดยพระธรรมทูต 9 สาย ทำให้กระแสความขัดแย้งที่กระเพื่อมในจิตใจคนได้รับพุทธธรรมเป็นเครื่องเยียวยาให้เกิดความสันติ สอดคล้องกับแนวทางของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ที่ประกาศนำหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้ ทำให้เห็นเส้นทางแห่งสันติภาพร่วมกันจากคงคา สู่ลุ่มน้ำโขง และมายังสายน้ำเจ้าพระยา เพื่อแสวงหาความสามัคคีธรรมตามรอยบาทพระศาสดา เพื่อสันติสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง
จากนั้นเป็นการอ่านสาส์นจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงให้พรและแนวทางด้านปัญญา คติธรรม ต่อการประชุม SAMVAD ครั้งนี้ว่า แม้ชาวโลก จะเพ่งโทษกัน มุ่งแต่จะให้คนอื่นเริ่มอ่อนให้เข้ามาปรองดองก่อน แต่ไม่ยอมการปรับตน ลดฐิถิ มานะอ่อนลงต่อผู้อื่น การปรับตนให้รู้สำนึกจะปรองดองกับผู้อื่นได้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ให้บุคคลพึงตั้งต้นด้วยธรรมะ 2 ประการ คือสติ หมายถึงความระลึกได้ สามารถยับยั้งใจ ไม่ด่วนใจร้อน คิดร้าย พูดร้าย หรือทำร้ายใคร เพียงเพราะเขาพูด คิด และทำ ที่อาจไม่ตรงกับใจเราของตน และขันติ หมายถึง ความอดทน อดกลั้นทั้งต่อการคิด การพูดและการกระทำ ที่อาจไม่สอดคล้อง ต้องด้วยทัศนะของตนผ่านปัจเจกบุคคล หมั่นเจริญสติและขันติไว้เป็นนิจ สรรพชีวิตย่อมรุ่งเรืองด้วยสามัคคีธรรมเป็นแน่แท้ การประชม SAMVAD ครั้งที่ 4 เพื่อร่วมขบคิดใคร่ควรในหัวข้อนับเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา เป็นการประตุ้นเตือนให้มนุษยชาติ ได้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ช่วยเกื้อกูลให้โลกสามารถก้าวพ้นวิกฤต ไปสู่ภาวะสันติสุขอย่างยั่งยืน ด้วยความสามัคคี
Dr.Arvind Gupta ผู้อำนวยการ, Vivekananda International Foundation (VIF) กล่าวว่า จากการจัดประชุม SAMVAD ต่อเนื่องมาแล้ว 3 ครั้งเป็นไปด้วยดี และครั้งนี้ให้ความสำคัญ ในการใช้ธรรมะนำสันติภาพสู่โลก จากปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ภัยพิบัติ อุกทกภัย คลื่นความร้อนที่ทำร้ายชีวิตคน ภาวะสงคราม จึงต้องรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นด้วยหลักธรรมะของพุทธ ฮินดูให้เกิดความสงบ การหารือร่วมกันอย่างมีอารยธรรมจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญเพื่อหาแนวทางลดความขัดแย้ง เช่นเดียวกับแนวทางของนายกรัฐมนตรีของอินเดียเห็นความสำคัญเพื่อให้เกิดสันติภาพ และเสรีภาพ
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวถึง การเริ่มต้นทำงานด้านศาสนา มาจากการบวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ดินแดนแห่งการตรัสรู้ ประเทศอินเดีย ได้เปลี่ยนชีวิต และในช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุน เป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย ,IBC,ICCS และอีกหลายองค์กร เป็นที่มาของการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปี 2567 ต่อเนื่องธรรมยาตราเพื่อประกาศศตวรรษแห่งธรรมในดินแดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย
การจัดงานSAMVAD ครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ได้รับเกียรติร่วมจัดงาน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน
และเจตนาที่ดี ไม่มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝง และธรรมะล้วนมีอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ตัวแทน 22 ประเทศควรแสดงให้โลกเห็นความสำเร็จในครั้งนี้ เหมือนเมื่อครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้พระธรรมทูตเผยแผ่ธรรมเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การเอาชนะด้วยธรรมะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ และสัจจะคือความจริง เป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์ที่ได้เรียนรู้ว่าธรรมะจะชนะทุกสิ่ง
รศ.ดร.สุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการความร่วมมือฮินดูกับพุทธเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งให้เกิดสันติสุข ไม่ใช้ความรุนแรง ถือเป็นความท้าทายของความขัดแย้ง และภาวะโลกร้อน ซึ่งศาสนาพุทธมีปรัชญาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งอหิงสา เมตตา กรุณา ปฏิจจสมุปบาท การแก้ปัญหาข้อพิพาทด้วยภูมิปัญญาที่เหมาะสม หรือทางสายกลางตามแนวทางพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างสันติภาพ ซึ่งมนุษย์และธรรมชาติมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งและแยกไม่ออก การประชุมสัมวาทะจึงเป็นการสนับสนุนให้ทุกคนต่างมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ และสร้างโลกสมดุลทางนิเวศมากขึ้น
Ms.Armida Salesiah Alisjahbana ,ESCAP Executive Secretary , Thailand กล่าวว่า การประชุมSAMVAD ครั้งนี้ เป็นความรับผิดชอบและร่วมมือเพื่อความยั่งยืนในเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่ต้องร่วมแก้ปัญหาสู่ความยั่งยืน ด้วยการสร้างความตระหนักและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเป็นแนวทางที่ถูกต้องจะหล่อหลอมอนาคตเพื่อตั้งรับปรับตัวทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การแบ่งปันความมั่งคั่งเพื่อสร้างโลกและอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน ด้วยความรัก เมตตา กรุณา ต่อมนุษยชนทุกคน
ขณะที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้ส่งวีดีโอคำกล่าวมาร่วมในการประชุ โดยกล่าวว่ารู้สึกเป็นเกียรติที่จัดการประชุมในประเทศไทย ซึ่งมีหลายสถาบันและบุคคลต่างๆทั้งจากอินเดีย ญี่ปุ่น และไทย ถือเป็นการทำงานที่หนักหน่วง ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมSAMVAD เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างตนกับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น เพื่อจัดการประชุมด้านศาสนาและสันติภาพโลก ส่วนการจัดประชุมครั้งนี้จัดในไทย ถือว่าไทยมีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และมรดกที่ยาวนานสวยงาน มีหลักปรัชญาและความเป็นจิตวิญญาณของเอเชีย และมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากมากว่าสองพันปี ทั้งศาสนาพุทธ และธรรมะเชื่อมโยงเราไว้ด้วยกัน
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยังกล่าวถึงการอัญเชิญพระพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้ายมายังประเทศไทยเมื่อต้นปี 2567 มีชาวพุทธร่วมกราบสักการะหลายล้านคน ซึ่งอินเดียและไทยมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนกันเพื่อให้เกิด
ความคืบหน้าและมั่งคั่งให้ทั้งสองประเทศ ถือเป็นหลักฐานของความสัมพันธร่วมกัน
ในการประชุมซึ่งมีการกล่าวถึงศตวรรษแห่งเอเชีย ไม่ใช่เพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็นด้านสังคม คำสอนในพระธรรม ของศาสนาพุทธให้เกิดเป็นยุคที่รุ่งเรืองมั่งคั่งของสองประเทศ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้สังคมและประเทศชาติ ซึ่งางครั้งอาจมีความเห็นต่างในหลายรูปแบบแต่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนั้นได้ และถือเป็นความท้าทายที่จะหาทางออก โดยใช้คำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยทางสายกลาง ส่วนด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเป็นอีกความท้าทายหนึ่งในการแก้ปัญหาและร่วมมือในเอเชียด้วยหลักธรรมอย่างกลมกลืน ซึ่งมหาตมะ คานธี ได้แสดงให้เห็นว่า เราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ต้องเข้าใจความรับผิดชอบต่อคนรุ่นหลังและอนาคต และไม่ใช้ความโลภเข้ามาแก้ปัญหา
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสนับสนุนให้ชาวพุทธเดินทางมาแสวงบุญในสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา และจะฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทาให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง และจัดทำคัมภีร์ต่างๆเป็นดิจิทัลเพื่อเผยแพร่อย่างเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น และ ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนไทยที่ร่วมกันจัดงานนี้ เพื่อนำสอนของพระพุทธเจ้านำทางสู่ความรุ่งเรืองได้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชิเงรุ อิชิบะ ได้ส่งสาส์น ร่วมในงานครั้งนี้ โดยได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการประชุม SAMVAD ที่เกิดจากความร่วมมือของนายกรัฐมนตรีของอินเดียและญี่ปุ่น จนมาถึงการประชุมครั้งนี้ที่เป็นหัวข้อ ศตวรรษแห่งธรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งในเอเชียมีค่านิยมต่างๆที่คล้ายคลึงกัน ทั้ง ความเมตตา กรุณา ความสามัคคี ความหลากหลายเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตยที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อกัน เพื่อให้เกิดสันติภาพไม่ใช่การทำลายล้าง
ไม่มีการแบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดหลักนิติธรรม ซึ่งอินเดียก็มีค่านิยมที่ใกล้เคียงกันและจะทำงานร่วมกับอินเดียและประเทศในเอเชียที่มีความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน
นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยมีขนบธรรมเนียมที่ยอมรับความหลากหลายมายาวนาน การรวมตัวครั้งนี้เพื่อนำภูมิปัญญาฮินดู พุทธ มาใช้เป็นแนวทางของการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในโลกยุคใหม่ที่ต้องเผชิญ เพื่อเป็นกลไกป้องกันความขัดแย้ง เพื่อสันติภาพ และความยั่งยืนบนวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยศตวรรษแห่งธรรม และศตวรรษแห่งเอเชีย
Mr.Karen Rijiju รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการรัฐสภาและชนกลุ่มน้อย สาธารณรัฐอินเดีย กล่าวว่า SAMVAD หรือ สัมวาทะ หมายถึงการพูดคุย จึงมีการเริ่มต้นของนายกรัฐมนตรีอินเดียและญี่ปุ่นในปี 2015 ซึ่งตนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานมากว่า 10 ปี และในวันนี้มั่นใจว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น จากปัญหาที่ซับซ้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือระหว่างพุทธและฮินดูสู่ความยั่งยืน
Dr. KHY Suvanratana รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการต่างประเทศ กัมพูชา กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการแบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างโลกและสันติสุขพร้อมกับการพัฒนา โดยเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนและมีสันติภาพด้วยคำสอนในพุทธศาสนา เพื่อความยั่งยืนสู่คนรุ่นหลัง ซึ่งการประชุม SAMVAD ครั้งนี้ยังเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เห็นความรับผิดชอบร่วมกันด้วยแรงบันดาลใจของหลักธรรมคำสอนขอให้ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งธรรมอย่างแท้จริง
Mr.Lyonpo Tshering (ลียอนโป เชอริง)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในจากภูฏาน กล่าวว่า ประเทศภูฏานให้ความสำคัญกับการพูดคุยเพื่อให้ศตวรรษนี้เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย และเพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งกษัตริย์ภูฏาน เน้นย้ำให้งสร้างความสามัคคีกลมเกลียว ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าและในศาสนาฮินดู สามารถนำมาใช้เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีโมเดลเป็นตัวชี้วัดความยั่งยืน และเป็นประเทศเดียว ที่มีป่าไม้ดูดซับคาร์บอน อันเป็นนโยบายระดับจิตวิญญาณ ที่ให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับความสำคัญด้านศาสนาพุทธ และฮินดู ที่มีความสำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
Mr.Gamagedara Dissanayaka (กามะเกดาระ ดิสสะนายะกะ)รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศาสนาและวัฒนธรรม ศรีลังกา กล่าวว่า รัฐบาลศรีลังกามีความมุ่งมั่นสร้างสันติภาพผ่านการสนทนา บนความหลากหลาย เพราะมีปัญหามากมายในโลกที่เกิดจากธรรมชาติและมนุษย์ จึงมีเป้าหมายที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติ
Mr.Vilayvong Bouddakham (วีระวงศ์ บุดดาคำ)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภาย แห่ง สปป.ลาว กล่าวว่า ศตวรรษแห่งธรรม ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์แต่ทำให้เห็นความรับผิดชอบร่วมกันต่ออนาคตที่ยั่งยืน ในโลกที่มีการเชื่อมต่อทั้งสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสุขภาพ ซึ่งในวันนี้ทำให้เห็นอนาคตของคนรุ่นต่อไป ที่จะใช้พระธรรมเป็นแกนหลัก และเป็นภารกิจที่ไร้พรมแดน ในการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่ต้องเดินอย่างมีสติด้วยหลักธรรม
Mr. ARUN Kumamoto Chaudhary (อรัน คุมมาโมโตะ เชาดารี)รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและการบินพลเรือนแห่งเนปาล กล่าวว่า ประชาชนเนปาลอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวทั้งฮินดู พุทธ มุสลิมและศาสนาอื่นๆ ซึ่งในศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประสูติที่เนปาลและผู้นำฮินดูก็เกิดที่เนปาลเช่นกัน ฉะนั้นทุกศาสนาจึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่มีความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งสัมวาทะ ต้องใช้การเจรจาทำความเข้าใจแทนการใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่น
Mr. Abhijit Halder (อภิจิต ฮาเลเดอร์) ผู้อำนวยการสมาพันธ์พุทธศาสนานานาชาติ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งพุทธ และฮินดู เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นหัวข้อสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดียได้กล่าวไว้เรื่องความแตกต่างและเห็นต่าง ซึ่งต้องใช้หลักธรรมและปรัชญาฮินดูเพื่อยุติความทุกข์ ดังคำสอนพระพุทธเจ้า เรื่อง อริยสัจ 4 และพรหมวิหาร 4 ส่วน อหิงสา เป็นหลักฮินดู ที่สอนเรื่องการมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความกลมเกลียว การทำกรรมดี หลักการนี้เป็นหลักการขอเอเชียที่ควรนำกลับมาใช้จากนี้เป็นต้นไป
Mr. Komi Sato (โคมิ ซาโตะ) , Director General, Japan Foundation กรรมการผู้จัดการใหญ่ มูลนิธิญี่ปุ่น กล่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาครั้งนี้ จากความมุ่งมั่นที่ได้ทำงานร่วมกันจากจุดเริ่มต้นของนายกรัฐมนตรีอินเดียและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งมีค่านิยมที่คล้ายคลึงกันเพื่อนำมาปฏิบัติและให้เกิดปัญญา และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำให้งานครั้งนี้เกิดขึ้นได้
ในการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ยังได้แบ่งการประชุมกลุ่มออกเป็น 3 ห้อง ได้แก่ การประชุมโต๊ะกลมของปรมาจารย์ด้านศาสนาและจิตวิญญาณ ,การประชุมหัวข้อ “การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง-ความเข้าใจหลักธรรมของทุกศาสนา เพื่อศตวรรษแห่งธรรม” และการประชุม จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม หัวข้อ “ความรับผิดชอบสากลและความยั่งยืนระดับนานาชาติ”
#SAMVADครั้งที่4
#สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980