สื่อใหญ่ของอินเดียนำเสนอข่าวธรรมยาตรา ครั้ง 4 และความสัมพันธ์ไทย-อินเดียที่แน่นแฟ้น
สื่อใหญ่ของอินเดียให้ความสำคัญกับการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของอินเดีย ของคณะธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 “ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม“ณ แดนพุทธภูมิ
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นำคณะธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 เข้าพบ นาย ศรี คเชนทร ซิงห์ เชควัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่บ้านพักรับรอง โดยมีสื่อมวลชน ของอินเดียให้ความสนใจเข้ารับฟังการสนทนาของทั้งสองฝ่าย
สำนักข่าว ANI News รายงานว่า คณะธรรมยาตราได้ชี้แจงเกี่ยวกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมหลักธรรมให้ยั่งยืนไปทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังพร้อมให้ความร่วมมือกับอินเดียในทุกมิติทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
คณะของดร.สุภชัยยังสรุปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมทราบถึงการประกาศศตวรรษแห่งธรรม ที่พุทธคยา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม และการบรรจุคำประกาศศตวรรษแห่งธรรมไว้ในไทม์แคปซูล ซึ่งจะฝังไว้ที่อินเดียและไทย นอกจากนี้ยังหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย -อินเดียในวงกว้าง โดยมีหลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก
ขณะที่รัฐมนตรีวัฒนธรรม กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ศตวรรตที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งเอเชีย และอินเดียจะมีบทบาทนำ ในประเทศลุ่มน้ำโขง และยังย้ำว่านโยบาย (ACT EAST)เป็นนโยบายที่มีศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เชื่อมั่นว่า นี่คือศตวรรษแห่งตะวันออก แห่งเอเชีย และแห่งอินเดีย
ด้านสถาบันคลังปัญญา หรือ Think Tank ของอินเดีย อาทิ IBC ,ICCS,VIF และมหาโพธิสมาคมแห่งศรีลังกา ให้ความสำคัญกับการเดินทางมาเยือนอินเดียของคณะธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 โดยได้จัดเวทีต้อนรับถึง 2 เวที โดยมีพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าคณธรรมทูสาอินเดีย-เนปาล เข้าร่วมรับฟังด้วย
นายสุรพล มณีพงษ์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในคณะธรรมยาตรา กล่าวว่า มาอินเดียหลายครั้ง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงในอินเดียคือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คณะธรรมยาตราพยายามที่จะเดินตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย และยังได้เล่าถึงช่วงเริ่มต้นการเป็นทูต ว่ามีนโยบายความร่วมมือระหว่างอินเดียกับอาเซียนในการใช้“พุทธศาสนาส่งเสริมการท่องเที่ยว”และย้ำถึงนโยบาย Look East และนโยบาย “ศตวรรษแห่งเอเชีย” ที่นำมาสู่ “ศตวรรษแห่งธรรม”
ขณะที่ นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัคราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐอินเดีย แสดงความยินดีกับความสำเร็จของ“การประกาศศตวรรษแห่งธรรม” เพราะธรรมมะของพุทธศาสนาเสริมความแข็งแกร่งในทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และยังเชื่อมโยงไปถึงธรรมยาตรา ครั้งที่ 1,2และ3 เป็นการใช้”พุทธศาสน์การทูต” เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาสู่มวลมนุษยชาติ
สถาบันคลังปัญญาของอินเดียหลายแห่ง เช่น ICCS,IBC,VIF และ IGNCA ได้แสดงจุดยืนไปในทิศทางเดียวกันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือด้านพุทธศาสนากับประเทศไทยมากขึ้น และชื่นชมแนวคิดการเชื่อมโยง 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
IGNCA เห็นว่าธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 เป็นการริเริ่มการเชื่อมโยงระหว่าง อารยธรรมทำให้เกิดความสมานฉันท์ สันติภาพ ความเข้าอกเข้าใจ และเป็นการแสดงซึ่งวิสัยทัศน์ที่จะนำไปสู่การเกิดปัญญาญาณ