ศาสนา-ศิลปวัฒนธรรม

พุทธมามกะแสดงพลังศรัทธา อัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง เริ่มงานนมัสการพระธาตุพนม 9 วัน 9 คืน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด

จังหวัดนครพนมร่วมกับวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พร้อมหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จัดงานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี 2565 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีรวม 9 วัน 9 คืน

ด้วย องค์พระธาตุพนมเป็นมหาเจดีย์บรรจุพระอุรังคธาตุ(กระดูกหน้าอกด้านซ้าย)ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเป็นพระธาตุประจำผู้เกิดปีวอก และพระธาตุประจำผู้เกิดวันอาทิตย์  ทั้งนี้ งานนมัสการพระธาตุพนม ชาวพุทธมามกะยึดเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งโบราณกาล อีกทั้งยังให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ รวมถึงความสง่างามขององค์พระธาตุพนม ที่กำลังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

โดยปีนี้งานนมัสการฯตรงกับวันที่ 9-17 กุมภาพันธ์ ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมากันอย่างเนืองแน่น เพื่อร่วมแห่พระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขง อัญเชิญมาประดิษฐาน พระวิหารหอพระแก้ว ก่อนที่จะมีพิธีเปิดงานนมัสการองค์พระธาตุพนมประจำปี 2565

และก่อนที่ศาสนิกชนจะเข้าร่วมงานเจ้าหน้าที่ได้มีการตั้งจุดคัดกรองตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งสิ้น10 จุด เพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่จะเข้าร่วมงาน ซึ่งต้องมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส ต้องผ่านการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หรือมีผลการตรวจ ATK เป็นลบไม่น้อยกว่า72 ชั่วโมงรับรอง จึงจะให้เข้าร่วมงานได้ และเมื่อเข้ามาภายในงานแล้วต้องกระจายอยู่ตามจุดต่าง และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

    ซึ่งทุกคนล้วนมาด้วยแรงแห่งศรัทธาเพราะมีการเตรียม ดอกไม้ ธูป เทียน ต้นผึ้ง ต้นเทียน ขันหมากเบ็ง หอพานบายศรี ตลอดจนเครื่องสักการะต่าง มาจากบ้านเพื่อมาร่วมพิธี แม้ในปีนี้จะไม่จัดใหญ่เช่นทุกปีที่ผ่านมาเนื่องด้วยสถานการณ์โควิดแต่จำนวนผู้ที่มาร่วมงานอย่างเนืองแน่น ก็

โดยพิธีอัญเชิญพระอุปคุต ประกอบพิธีกันที่ริมแม่น้ำโขง บริเวณท่าเรือข้ามฟากไทยลาวเนรมิตว่าตรงริมแม่น้ำโขงแห่งนี้เป็นบาดาลลึก มีพระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยผู้ลงไปอัญเชิญพระอุปคุต มีทั้งนายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนนายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการรวม 5 นาย  มุดน้ำลงไป 3 ครั้ง ก่อนจะอุ้มพระอุปคุตจากใต้น้ำมาส่งให้นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ประธานฝ่ายฆราวาส ที่รอรับอยู่ริมท่า แล้วอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นเสลี่ยง สาธุชนผู้เสื่อมใสต่างโปรยดอกไม้หอม ดอกไม้มงคลใส่องค์พระอุปคุตตลอดเส้นทาง มีขบวนนางรำอยู่เบื้องหน้า แห่ขึ้นไปประดิษฐานยังวิหารหอพระแก้ว บริเวณมณฑลวัดพระธาตุพนมฯ เพื่อคุ้มครองปกปักรักษา ไม่ให้เกิดขึ้นภยันตรายตลอดงาน 9 วัน 9 คืน ซึ่งยึดถือปฏิบัติมายาวนานหลายร้อยปี เพราะเชื่อว่าท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มาก

ในตำนานอุรังคธาตุนิทาน กล่าวว่า พระอุปคุต มีชื่อเต็มๆว่าพระกีสนาคอุปคุตมหาเถระ เป็นบุตรของเศรษฐีเมืองมถุรา ริมฝั่งแม่น้ำยมนา (เกิดหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานแล้ว 200 ปี) หลังออกบวชได้บำเพ็ญธรรมตามรอยพระพุทธองค์ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วไปจำศีลบำเพ็ญธรรมอยู่ใต้ท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล

พระธาตุพนม ซึ่งเป็นมหาเจดีย์บรรจุพระอุรังคธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็น 1 ใน84,000 พระสถูปมหาเจดีย์ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  งานนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งตรงกับเดือน 3 ของทุกปี ชาวอีสานจึงเรียกกันว่าบุญเดือนสาม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคือบุญข้าวจี่มีอยู่ในฮีต 12 (จารีตของคนโบราณอีสาน) หรือประเพณี 12 เดือน

ตลอดงานนมัสการพระธาตุพนม 9 วัน 9 คืน จะมีการแสดงสินค้าโอท็อป การแสดงหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี นิทรรศการหมู่บ้านรักษาศีล 5 การฟังพระธรรมเทศนาที่ลานหน้าวัดและเวียนเทียนทุกคืน การทำบุญตักบาตรในตอนเช้า โดยเฉพาะวันที่ 16 กุมภาพันธ์ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) จะเป็นวันพระใหญ่คือวันมาฆบูชา ที่ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ

ซึ่งในวันมาฆบูชาที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จะมีพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและลาวประกอบพิธีเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุพนม ตามความเชื่อของชาวอีสานว่าหากใครได้มีโอกาสมาเวียนเทียนในวันสำคัญต่างๆ รอบองค์พระธาตุพนม หรือมากราบไหว้บูชา ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ จะทำให้มีความเจริญก้าวหน้า และอยู่เย็นเป็นสุข

เทพข่าวร้อนรายงาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า