ภูมิภาค

ปทุมธานี เดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จับมือกระทรวงดิจิทัลฯ MOU ใช้งานระบบ e-office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เป็นแห่งแรก

วันนี้ (18 ก.ย.67) เวลา 11.00 น. ที่ ห้องประชุมเจ้าพระยาปทุมธานี  ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี  ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  วิศิษฏ์สรอรรถ  ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี  เป็นผู้แทนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การใช้งานระบบ  e-office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ จังหวัดปทุมธานี  โดยมี นางสาวพิยะดา สุดกังวาล ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการส่วนภูมิภาคของจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการใช้งานระบบ  e-office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ระหว่าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ จังหวัดปทุมธานี เป็นความเห็นชอบร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงกระบวนงานภายในของหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้จังหวัดปทุมธานี บนแพลตฟอร์ม e-Office ของ GDCC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการบริหารจัดการข้อมูล ทำให้การบริหารจัดการงานสารบรรณและกระบวนการทำงานภายใน เป็นไปด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส  โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นผู้จัดหาแพลตฟอร์มและสนับสนุนเทคโนโลยีที่จำเป็น ภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) สำหรับการใช้งานระบบ e-Office รวมถึงการให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง ส่วนจังหวัดปทุมธานี จะนำระบบ e-Office ไปใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นและปรับกระบวนการทำงานภายในให้สอดคล้องกับแพลตฟอร์มดังกล่าว


ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  วิศิษฏ์สรอรรถ  ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล วัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างรวดเร็ว และรัฐตอบสนองความต้องการประชาชนได้อย่างทันท่วงที การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จะทำให้จังหวัดปทุมธานีเข้าสู่การทำงานแบบไร้กระดาษ โดยการใช้งานภายใต้ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จะมีความมั่นคงปลอดภัยสูง ประโยชน์ที่จะเกิดแก่พี่น้องประชาชนจังหวัดปทุมธานี ก็จะทำให้การติดต่อราชการมีความสะดวก ไม่ต้องเดินทาง ใช้เวลาน้อยลง ถือว่า จังหวัดปทุมธานีเป็นจังหวัดแรกที่ขยับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลทั้งจังหวัด เชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดอื่น ๆ นำไปเป็นแนวทางได้


นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคภายในจังหวัดจำนวน 36 หน่วยงาน และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 65 หน่วยงาน ได้เริ่มทดลองนำร่องการขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบราชการอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการใช้ระบบ e-Document เต็มรูปแบบทั้งจังหวัด โดยใช้ระบบ NT Smart e-Document ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ในเรื่องของหนังสือราชการ ซึ่งมีประโยชน์ในเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว สามารถทำงานได้ทุกที่ และลดความสิ้นเปลืองทรัพยากร และในปีงบประมาณ 2568 นี้ ก็ได้รับความกรุณาจากปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้งานระบบ  e-office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ ในครั้งนี้ ซึ่งก็คาดหวังว่า เมื่อส่วนราชการเข้มแข็ง ก็จะนำไปสู่การให้บริการประชาชนในการอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า