อธิบดี พช. เยือนอุบลฯ Kickoff ต้นแบบ 1 ตำบล 1 วัด 1 คลังยาและอาหาร
สานข่ายขยายงาน MOU วัด มหาดไทย สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
วันที่ 22 เมษายน 2565 นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วย นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ร่วมประชุมและมอบแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ณ ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ป่าดงใหญ่วังอ้อ และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวแสดงสัมโมทนียกถา และต้อนรับคณะผู้บริหารจากกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงนายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดารประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายสันติพงษ์ สมศรี นายอำเภอเขื่องใน นายวิลาศ บุญโต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ผู้อำนวยการกลุ่มงานทุกกลุ่มงานพัฒนาการอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายจิตอาสา คณะทำงานจิตอาสาชาววัง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ผู้นำ อช. อสม. ชาวบ้านวังอ้อ ร่วมกัน Kick off ต้นแบบ 1 ตำบล 1 วัด 1 คลังยาและอาหาร สานข่ายขยายงาน MOU วัด มหาดไทย สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ณ โคก หนองนา ชาววัง คลังยาและอาหาร บ้านวังอ้อ หมู่ที่ 9 ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เมตตาเปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งพุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการเตรียมคลังยาและอาหารมาตั้งปี 2556 ในพื้นที่โคก หนอง นา พื้นที่ 1 ไร่ 6 ไร่ 20 ไร่ 41 ไร่ เมื่อคนในชุมชนมีการติดเชื้อของโรคโควิด-19 ต้องกักตัว 14 วัน ที่โรงเรียนบ้านวังอ้อจำนวน 19 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัว 14 วัน ในหมู่บ้าน จำนวน 133 ราย จึงได้นำผลผลิตจากแปลง “โคก หนอง นา” มาประกอบอาหาร รวมทั้งน้ำดื่มให้ผู้กักตัวที่โรงเรียนบ้านวังอ้อ จำนวน 684 กล่อง และนำวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร น้ำดื่ม ขนม ไปให้ผู้กักตัวในหมู่บ้าน จำนวน 133 ราย (สองรอบ) จำนวน 266 ชุด ตลอดจนนำยาสมุนไพรในแปลงโคกหนอง นา มาบดและบรรจุแคปซูล แจกพี่น้องที่มีการติดเชื้อของโรคโควิด-19 และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวในหมู่บ้าน ทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ทุกข์ก็พอทน จนก็พอไป ไม่ทุกข์จนลำบาก ไม่ยากจนลำเค็ญ เป็นการพึ่งตนเองได้ในเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการระดมความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อีกทั้งในยามคนในชุมชนวังอ้อเสียชีวิตก็ได้นำพืช ผัก ผลไม้ หน่อไม้ ไปเป็นของชำร่วย ช่วยงานศพ และยามปกติก็ได้แบ่งปันให้กับพี่น้องชุมชน
จากสถานการณ์ดังกล่าวถ้าหากมีการสานข่ายขยายผลให้แต่ละตำบล 1 ตำบล 1 วัด มี 1 คลังยาและอาหารชุมชน จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี
พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงได้ประสานความร่วมมือจาก 7 ภาคีเครือข่ายเข้ามาบูรณาการให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อาทิ คนในชุมชนระดมพืช ผัก สมุนไพร มาปลูกในแปลงรวมที่เป็นคลังยาและอาหาร, สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นำโครงการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามกิจกรรมน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช สืบสานงานแผ่นดินกิจกรรมน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาลงในพื้นที่, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นำต้นไม้สมุนไพร มาปลูกในพื้นที่ รวมทั้งประสานคณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกมาอบรมเสริมทักษะแก่ชุมชนให้แปรรูปสมุนไพรไว้ใช้เอง,ผู้มีจิตศรัทธาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมาขุดเจาะและจัดระบบน้ำในแปลงคลังยาและอาหาร,โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาแนะนำให้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรในครัวเรือนรวมทั้งแนะนำ ให้ข้อมูลในการรักษาเบื้องต้น, ภาคเอกชนเข้ามายกระดับต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และต่อยอด SME เพิ่มรายได้แก่ชุมชนสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาคลังยาและอาหาร, ทางอำเภอก็มีการจัดกิจกรรมในแปลงคลังยาและอาหารชุมชนเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ, ภาครัฐก็มาบูรณาการให้เป็นพื้นที่ทำงานของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในระบบ TPMAP เข้ามาทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิต
จังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้เรียนเชิญ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย Kick off ต้นแบบ 1 ตำบล 1 วัด 1 คลังยาและอาหาร สานข่ายขยายงาน MOU วัด มหาดไทย สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือของ บวร บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการลงนามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และศาสตราจารย์ ดร. สุรินทร์คำฝอย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รวมพลังหนุนเสริมความหวังของประเทศชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข ตลอดจนพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน วัดและพระสงฆ์ได้ดำเนินงานด้านสาธารณะสงเคราะห์ คือ เป็นครูคลัง ช่าง หมอ ด้วยการอบรมสั่งสอน เป็นคลังอาหาร สรรพวิทยาการ โดยพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางด้านงานช่าง และวัดเป็นศูนย์กลางของความรู้ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้นำองค์ความรู้นวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการหนุนเกื้อ นำมาใช้นำแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในหลากหลายมิติ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่เป็นภารกิจหลักของกระทรวงมหาดไทยในการหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะขับเคลื่อนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน
ขณะที่ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และกรมการพัฒนาชุมชน ตลอดจนให้กำลังใจผู้บริหารข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีทุกคน โดยกล่าวได้เน้นย้ำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสานข่ายขยายงาน MOU วัด มหาดไทย สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน, การขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นาโมเดล” ในการริเริ่มสร้างสรรค์และขยายผลไปสู่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชนและแปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่“โคก หนอง นา โมเดล” หรือ “โคก หนอง นา ชาววัง คลังยา และอาหาร” ในบริเวณศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน ด้วย