จังหวัดเชียงราย คณะศรัทธาประชาชนร่วมเดินจาริกแสวงบุญ ขึ้นดอยไหว้สาพระธาตุดอยตุง ประจำปี 2565
16 มีนาคม 2565 ที่วัดศาลาเชิงดอย ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย นายพินิจ แก้วจิตคงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานฝ่ายฆราวาส และ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นำคณะศรัทธา พุทธศาสนิกชน ร่วมเดินจาริกแสวงบุญ“เตียวขึ้นดอย ตวยฮอยครูบา ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” เริ่มจากวัดศาลาเชิงดอย จนถึงวัดพระธาตุดอยตุง รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร โดยผู้ร่วมกิจกรรมที่เดินตามเส้นทางจาริกแสวงบุญจนถึงลานวัดพระธาตุดอยตุง จะได้รับมอบวัตถุมงคล เหรียญที่ระลึก “2004 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” รุ่นที่ 6 ออกแบบโดยอาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง ศิลปินชาวเชียงรายด้านหนึ่งเป็นรูปพระธาตุดอยตุง อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระเศรษฐีนวโกฏิ พร้อมได้รับเกียรติบัตรลงนามโดย พระเดชพระคุณพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และ นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อีกทั้งผู้ร่วมกิจกรรมได้รับการคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกายและสวมหน้ากากอนามัย ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่บาดของเชื้อไวรัสโคโรนา– 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
งานประเพณีนมัสการและประเพณีสรงน้ำพระธาตุดอยตุง เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน จวบจนถึงปัจจุบัน ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 6 เหนือของทุกปี ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่าวันเดือนหกเป็ง จนเป็นพิธีสำคัญและเป็นประเพณีประจำจังหวัดเชียงราย และในวันนี้ นอกจากมีกิจกรรมเดินจาริกแสวงบุญแล้ว ยังมีพิธีตักน้ำทิพย์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภช เทศน์สวดเบิก เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลตามความเชื่อของชาวล้านนา
พระธาตุเจ้าดอยตุง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง“เมื่อแรกสร้างได้มีการปักธงผืนใหญ่ไว้บนยอดดอยคู่กับเจดีย์ ตำนานพระธาตุเจ้าดอยตุงเล่าว่า เมื่อพุทธศักราช561 พระมหากัสสปะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) มามอบให้พระญาอชุตราช ราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ประดิษฐาน ณ ดอยดินแดง หรือ ดอยตุง เป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีกุน คือปีหมูหรือกุญชร คือปีช้างตามความเชื่อของชาวล้านนา