ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงราย การขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย และการหยุดเผาลดฝุ่นพิษ P.M.2.5
ในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย ระหว่าง เทศบาลนครเชียงราย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วันที่ 11 มีนาคม 2565 ณ อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ศูนย์การเรียนรู้เทศบาลนครเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)เมืองอาหารปลอดภัย ตามโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ และมอบนโยบายการพัฒนาเมืองเชียงรายการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย และการหยุดเผาลดฝุ่นพิษ P.M.2.5 โดยมีนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และนายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชนพื้นที่ภาคเหนือ นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วยท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอเมืองเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการและผู้ที่เกี่ยงข้องร่วมในพิธี
โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย ตามโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง เทศบาลนครเชียงราย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8 แห่ง โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชนท้องถิ่น พัฒนาบริการสาธารณะของเทศบาลนครเชียงรายให้เกิดรูปธรรมปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนเขตเมือง สู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านส่งแวดล้อม และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงของชุมชน รวมถึงการส่งเสริมประชาชนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย อีกทั้งการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของชุมชน โดยการขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย ภายใต้ความร่วมมือของภาคเครือข่ายทุกภาคส่วน
ทั้งนี้นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมอาหารปลอดภัย สร้างอัตลักษณ์ใหม่ สร้างรายได้ และการลดฝุ่น P.M 2.5 โดยการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมอาหารปลอดภัย เป็นการนำเอาเรื่องเกษตรกรรมอาหารปลอดภัยมาส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดเชียงราย และโดยส่วนใหญ่ การทำเกษตรกรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายมุ่งเน้นแต่การเพิ่มปริมาณผลผลิตเป็นหลัก โดยขาดการจัดการที่เหมาะสมจึงนิยมใช้วิธีการเผาสำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกจึงเป็นแหล่งกำเนิดหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง ขนาดเล็ก PM 2.5 การปรับใช้หลักการจัดการมลพิษซึ่งเริ่มจากการป้องกันการควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการจัดการ เพื่อลดการเผา ในพื้นที่เกษตรและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างรอบด้าน ร่วมถึงการสร้างเครือข่ายเกษตรกร ผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ และสร้างผู้ซื้อคือร้านอาหารเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน สร้างระบบตลาดอาหารปลอดภัยให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของจังหวัดเชียงราย ในการแก้ไขปัญหามอกควันไฟป่าและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำอีกด้วย