อุบลฯ เปิด 1 จังหวัด 1 โครงการ “อุบลโมเดลนำร่องการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานสู่มาตรฐานสากล”
พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาแรงงานให้กับผู้ปฏิบัติงานในระบบจำหน่ายไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โครงการอุบลโมเดลนำร่องการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานสู่มาตรฐานสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะของคนในช่วงวัยทำงานให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความสามารถเฉพาะบุคคลและความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ และส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือด้วยเทคโนโลยีสำหรับเป็นฐานในการต่อยอดความรู้ไปสู่การสร้างสรรค์งานใหม่ๆ อันจะช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกในการทำงานให้มากขึ้น และยังเป็นกลไกตอบสนองแนวนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของคนไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังแรงงานไทยให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะฝีมือสูงขึ้น มีมาตรฐานฝีมือแรงงาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ของเทคโนโลยีรวมทั้งส่งเสริมการประเมินและรับรับรองความรู้ความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน
ในสาขาอาชีพที่เป็นอันตราย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
สร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่และระดับชาติต่อไป
ในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี วันนี้ 11 มีนาคม 2565 ที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี นางจิรวรรณ สุตสุนทร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิด 1 จังหวัด 1 โครงการภายใต้ชื่อโครงการอุบลโมเดลนำร่องการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานสู่มาตรฐานสากล
โดยกิจกรรมที่สำคัญอีก 1 กิจกรรมในวันนี้ คือ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาแรงงานให้กับผู้ปฏิบัติงานในระบบจำหน่ายไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระหว่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุบลราชธานี กับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี และพิธีเปิดสถานีทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร ระดับ 1 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุบลราชธานี ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการจัดตั้งสถานีทดสอบในครั้งนี้
โครงการอุบลโมเดล มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาฝีมือแรงงาน สนับสนุนวิทยากร วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือฝึกอบรม และส่งเสริมการจ้างงาน อาทิ บริษัท จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน) สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พาราโค้ทติ้ง จำกัด บริษัท ไทยฮวด จำกัด บริษัท แซง–โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด และบริษัท ภัทรเมธากิจ จำกัด นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาคการศึกษาในการผลิตและพัฒนากำลังแรงงานใหม่พัฒนานักศึกษาชั้นปีสุดท้ายให้มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการและให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนสถาบัน ได้กำหนดจัดประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานระหว่างสถานประกอบกิจการและภาคการศึกษา
สุมาลี สมเสนาะ/ข่าว–ภาพ