“อนุพงษ์” ติวเข้ม ผู้ว่าฯ-นายอำเภอ 20 จังหวัดภาคอีสาน เดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่อย่างเด็ดขาด
พร้อมย้ำมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุจนนำไปสู่ความสูญเสียให้ได้
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 11 มี.ค.2565 ที่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน เปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด , ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด , รอง ผวจ.ฯ,ปลัดจังหวัดฯ, พัฒนาการจังหวัดฯ, ท้องถิ่นจังหวัดฯ, และนายอำเภอ จาก 20 จังหวัดภาคอีสาน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มวด
พล.อ.พนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การประชุมขับเคลื่อนแนวทางของ ศจพ. ในระดับพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคอีสานวันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการปฏิบัติมีรายละเอียด มีจุดเน้นที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อมาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือ เรียกได้ว่าเป็นการตัดเสื้อให้พอดีตัวโดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ อขจพ. โดย รมว,มหาดไทย เป็นประธาน ไปจนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ 3 ระดับได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด หรือ ศจพ.จ.,ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ ศจพ.อ. และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน,ชุมชนเพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน,แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ
“ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ. อำเภอเพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จในระดับอำเภอ ทั้ง 5 มิติ ซึ่งเราเรียกว่า 5 เมนูแก้จน ประกอบด้วย ด้านสุขภาพ คือ การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรังด้านความเป็นอยู่คือการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ด้านการศึกษา เช่น การฝึกอาชีพ, ด้านรายได้ เช่น การจัดหาที่ดินทำกิน เกษตรแปลงใหญ่ และ การเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น สนับสนุนเบี้ยผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้ผู้ที่ตกหล่นจากระบบ โดยทีมพี่เลี้ยงจะลงไปพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ดังนั้นตั้งแต่วันนี้ทีมพี่เลี้ยงจะต้องดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะทรัพยากร และทางออก โดยให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ การคิด ตามสภาวะแวดล้อมที่สามารถทำได้ และไม่เป็นการบังคับให้เขาทำ โดยพัฒนากรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้ทีมพี่เลี้ยงไปสำรวจให้รู้ปัญหา รู้แนวทางการทำงาน และวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดให้ออกมา ด้วยการนำข้อมูลบุคคล,ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP ไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับครัวเรือน พร้อมทั้งติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิด“
รมว.มหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจ ในเมนูแก้จน ทั้ง 5 เมนู รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า โดยนายอำเภอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการทั้งนี้ หากพบสภาพปัญหานอกเหนือจากเมนู ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่สามารถแก้ไขในระดับอำเภอได้ให้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการ และหากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบาย ให้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการต่อไปอย่างไรก็ตามอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนคือผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จะต้องเข้าไปบูรณาการทุกภาคส่วนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะบริเวณทางข้าม ที่การข้ามถนนแล้วเกิดอุบัติเหตุจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก ทุกจังหวัดจะต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดสูงสุด และทำให้คนขับรถมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน รู้กติกา มารยาท และมีจิตสำนึกที่จะคิดถึงความปลอดภัยในภาพรวม