ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟสบุ๊กของ รพ.สนาม มธ.โพสต์ระบุอำลาการรายงานของผู้ป่วยโควิด ถึง 9 เดือนเต็ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟสบุ๊กของ รพ.สนาม มธ.โพสต์ระบุอำลาการรายงานของผู้ป่วยโควิดถึง 9 เดือนเต็ม
วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม เป็นวันจันทร์สุดท้ายที่เราจะมา update สถานการณ์โควิดจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ หลังจากที่เขียนเล่าเรื่องราวนี้ต่อเนื่องมาถึงเก้าเดือนเต็ม และหนนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆเว้นแต่ว่า หลังปีใหม่เราจะมีแขกฝรั่งชื่อ Omicron มาเยี่ยมเยียนหนัก จนต้องเปิด รพ สนามกันอีกรอบจนจะต้องกลับมารายงานสถานการณ์กันใหม่ กลายเป็นเวฟที่ 5 ซึ่งพวกเราไม่อยากให้มาเลย จริงจริงนะ
วันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั่วประเทศจำนวนตำ่สุดในรอบสี่เดือนมานี้ อยู่ที่ 2,525 คนเท่านั้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิดที่เรารับไว้รักษาใน รพ.ธรรมศาสตร์ก็มีจำนวนตำ่ที่สุดในรอบหกเดือนนี้เลยมีผู้ป่วยนอนรักษาตัวอยู่ที่นี่ เพียง 14 รายเท่านั้น จำนวนผู้มีผลตรวจ swab เป็นบวกจาก Rt-PCR ก็มีเพียง 4รายจากการตรวจ 136 รายตัวเลขที่ลดตำ่ลงทุกด้านในวันนี้ ดูจะเป็นใจกับการที่เราจะมารายงานเรื่องราวของโควิดเป็นครั้งสุดท้ายในวันนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียวล่ะ
ขออนุญาตใช้โอกาสของการรายงานคราวสุดท้ายนี้ เพื่อสรุปการทำงานดูแลผู้ป่วยโควิดท่ีเป็นรูปธรรมและตัวเลขการทำงานของพวกเราที่รพ.ธรรมศาสตร์ ในสงครามโควิดคราวนี้ สักสามสี่ประเด็น เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของโรงพยาบาลเพื่อรับใช้ประชาชนแห่งนี้ต่อไปดังต่อไปนี้
(1)ในโรงพยาบาลหลัก คือรพ ธรรมศาสตร์ เราได้รับผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาพยาบาลนับตั้งแต่เวฟแรก จนถึงเวฟที่สี่ รวมเวลาประมาณยี่สิบเดือน จากมีนาคม 63 จนถึงวันนี้ 20ธันวาคม 64
รวมทั้งสิ้น 2,124 ราย ซึ่งได้รักษาหายและกลับบ้านได้เป็นส่วนใหญ่ แต่น่าเสียดายที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดในรพ ธรรมศาสตร์มากถึง 129 คน
ในระหว่างยี่สิบเดือนนี้ เราได้สร้าง เสริม และปรับปรุงหอผู้ป่วยโควิด จากที่เคยมีห้องNegative pressure เพียงสามห้อง ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยวัณโรค และหอผู้ป่วยโควิดแยกโรคเฉพาะกิจเพียงสิบกว่าเตียง ให้เพิ่มขึ้น กลายเป็นรวมเก้าหอผู้ป่วยที่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้ถึง 120 เตียงในวันนี้ และมีห้องแยกที่เป็น Negative pressure มากถึง 40ห้องสำหรับผู้ป่วยอาการวิกฤติ และมีห้องแยกกึ่งความดันลบอีกมากถึง30ห้อง โดยใช้ทรัพยากรที่พวกเราได้รับความสนับสนุนจากการบริจาคของผู้มีจิตเป็นกุศลจำนวนมากมาย
ในสงครามก็ต้องมีการสูญเสียเป็นปกติธรรมดา ในยี่สิบเดือนนี้ มีพวกเรา ทั้งที่เป็นแพทย์พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ที่เพลี่ยงพล้ำ ตกเป็นผู้ติดเชื้อโควิดเสียเอง รวมทั้งสิ้น 178 คน โชคดีอยู่บ้าง ที่ไม่มีรายงานการเสียชีวิตของกำลังพลของเรา
(2) โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็น รพ สนามสำหรับโควิดแห่งแรกในประเทศไทยเปิดรับผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่ถึงขั้นสีแดง มาตั้งแต่มีนาคม63 สำหรับการระบาดเวฟแรกและเวฟสองในเดือนมกราคม 64กับเวฟที่สามและสี่ในเดือนเมษายนจนถึงตุลาคม64 รวมทั้งสิ้น295 วัน
โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ซึ่งเริ่มจาก 307 เตียง จนกลายเป็น 470 เตียงในช่วงหลังเคยมีผู้ป่วยสูงสุดในวันเดียวมากถึง430 คน และตลอดระยะเวลาดำเนินงานทั้งสามช่วงเวลาเราได้ช่วยรับดูแลผู้ป่วยโควิดได้เป็นจำนวนมากถึง 5,022 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตใน รพ สนาม เพราะเมื่อใดที่อาการผู้ป่วยใน รพ สนามเลวร้ายลง จนกลายเป็นผู้ป่วยอาการสีแดง เราก็จะส่งเข้ารับการดูแลอย่าง intensive ที่ในรพ ธรรมศาสตร์ในทันที
(3)ศูนยรับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต ที่พวกเราใช้ยิมเนเซียม 4 ขนาด 2,500ที่นั่งทั้งหลัง มาใช้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนยาวนานติดต่อกันถึง 161 วัน โดยไม่หยุดเสาร์อาทิตย์โดยบุคลากรของ รพธรรมศาสตร์และอาสาสมัครที่มาช่วยกัน เพื่อทำให้โอกาสเข้าถึงวัคซีนของผู้คนได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางขึ้น หลังจากที่พวกเราได้ช่วยต้ังศูนย์ช่วยเหลือจองนัดฉีดวัคซีนทางโทรศัพท์ ที่รังสิต เพื่อสำหรับช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึง”หมอพร้อม” ทางแอฟอยู่นานหลายสัปดาห์
161 วันของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิต ที่ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 14 พฤศจิกายน เราได้ให้วัคซีน ทั้งเข็มแรก เข็มสองและสาม แก่ผู้คนไปรวมมากกว่าสามแสนโดส และได้ช่วยลดปัญหาของการเข้าไม่ถึงวัคซีนของชุมชนทางเหนือ และปริมณฑลของ กทม. ไปได้อย่างมีนัยสำคัญทั้งนี้ โดยการริเริ่ม ด้วยบุคลากร และใช้ทรัพยากรของธรรมศาสตร์เองทั้งหม
แม้ศูนยรับวัคซีนจะปิดตัวไปเดือนเศษแล้ว แต่พันธกิจในการให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้คนของพวกเรายังไม่จบ เพราะทุกๆวัน จันทร์ถึงศุกร์ เรายังคงฉีดวัคซีนให้ผู้คนวันละประมาณ 1,500-2,000คนทุกวันในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ด้วยเจ้าหน้าที่และค่าใช้จ่ายของธรรมศาสตร์เองและสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์สุดท้าย ที่พวกเรานัดหมายผู้คนให้มารับวัคซีนในเดือนธันวาคมก่อนที่จะกลับมาฉีดวัคซีนรอบใหม่ในกลางเดือนมกราคม
จนถึงวันนี้ ธรรมศาสตร์ได้ดูแลฉีดวัคซีนให้ผู้คนทั่วไปไปแล้ว มากกว่า 346,000โดส
(4) สำหรับโครงการธรรมศาสตร์ Home Isolation ที่ประสานการดูแลผู้ป่วยโควิดที่อาการไม่รุนแรง และมีความประสงค์ หรือมีความจำเป็นต้องรักษาดูแลตัวเองที่บ้าน โดยจะมีการติดตามดูแลอาการป่วยอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และพยาบาลทุกวัน และมีการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นรวมตลอดทั้งอาหารสามมื้อให้ที่บ้าน ซึ่งเราได้เริ่มมาก่อนที่อื่นๆตั้งแต่30 มิถุนายน และทำต่อเนื่องมาจนถึง173 วัน จนปิดโครงการไปเมื่อ 15ธันวาคมที่ผ่านมานั้นเราได้รับดูแลผู้ป่วยโควิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,608 คน ขณะนี้ทุกรายได้หายจากอาการป่วยและกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติแล้ว
สี่เรื่องใหญ่ๆที่พวกเราที่ธรรมศาสตร์ลุกขึ้นยืนเป็นหลัก เป็นหลังพิงให้กับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในที่ต่างๆ และทั้งช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้คนในการตอบโต้และต่อต้านการรุกรานในสงครามโควิดนี้ เป็นไปโดยความเสียสละ ทุ่มเท และความกล้าหาญของบุคลากรทางการแพทย์ ในท่ามกลางสถานการณ์และเวลาที่มืดมนที่สุดของประเทศโดยแท้ และเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือการเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ในสิ่งที่ใครบางคนเคยบอกไว้กับพวกเราว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขอให้พวกเราทำหน้าที่ต่อไป และให้คิดเอาเองว่า หน้าที่ของพวกเราคืออะไร โดยแท้จริง
วันนี้ สถานการณ์ได้คลี่คลายไปมากแล้ว และภาวะคุกคามของโควิดก็ลดระดับลง ก็คงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่พวกเราสมควรจะยุติภารกิจพิเศษเฉพาะในเรื่องของโควิด และกลับไปทำหน้าที่ปกติของพวกเราให้ครบถ้วนสมบูรณ์
#ลาก่อน และอาจพบกันใหม่ หากว่าประเทศชาติมีความจำเป็นและต้องการพวกเรา