ปัญหาที่ดินไทย จะเดินหน้าไป ต่อได้อย่างไร (1)
ในงานมหกรรมที่ดินคือชีวิต ครั้งที่ 2 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “หยุดวิกฤตความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่ดินไทย” ระหว่างวันที่ 16 ถึง 17 พฤศจิกายน 2562 ณ หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
“พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง“
เลขาธิการพรรคประชาชาติได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ปัญหาที่ดินไทย จะเดินหน้าไป ต่อได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 – 14.30 น. ได้แสดงทัศนะ ในหัวข้อดังกล่าวและได้ทำการสรุป เพิ่มเติมอธิบายประเด็นที่ได้พูดไว้ ดังนี้
เรื่องปัญหา “ทรัพยากรที่ดิน” เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการปฏิรูปประเทศ ถ้าปฏิรูปที่ดินไม่ได้การปฏิรูปด้านอื่นๆก็จะล้มเหลว เมื่อปี 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม หัวข้อ “คนจนกับการเข้าถึงความเป็นธรรมในปัญหาที่ดินทำกิน” ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดปรากฏการที่หน่วยงานรัฐ มีนโยบายฟ้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่ทำกินในพื้นที่ป่าเรื่องโลกร้อน และฟ้องประชาชนที่มีความขัดแย้งพิพาทกับรัฐเรื่องที่ดินในป่า ที่ดินสาธารณะอื่นๆ ได้ระดมความคิดเชิญผู้เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ได้รับผลกระทบ และเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่า ในประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ในส่วนของที่ดินเอกชนนั้น ถือว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีแนวคิด/หลักการเรื่อง “การปฏิรูปที่ดิน” ในกฎหมายที่ดินเลย
ขณะที่ราษฎร เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่ทำกิน ถือว่าที่ดินเป็นที่ทำกินเพื่อผลิตอาหารให้ผู้คนและรักษาระบบนิเวศน์จะเข้าไปอยู่เป็นชุมชนในที่รัฐประกาศเป็นเขตป่าหรือที่รัฐอื่น จึงเกิดความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ซึ่งรัฐจะดำเนินการเป็นคดีอาญา คดีแพ่งชาวบ้านจะแพ้คดี และถูกบังคับคดี ซึ่งในเวทีระดมความคิดมีข้อเสนอ เช่นให้นิรโทษกรรมและควรงดการบังคับคดีกับประชาชนผู้ยากไร้เข้าไม่ถึงความเป็นธรรม รวมทั้งมีแนวคิดควรยกเลิกโทษอาญาการบุกรุกที่ดินรัฐ ที่เหมือนในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีโทษทางอาญา ให้เป็นหน้าที่ของรัฐป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกฯ ให้ใช้การดำเนินการคดีทางแพ่งและ/หรือ มาตรการยึดทรัพย์แทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ดินที่ต้องพิสูจน์สิทธิกรณีประชาชนกับรัฐ ตามมติ ครม วันที่ 30 มิถุนายน 2541 มีที่ดินของประชาชนที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศประมาณ 4.7 ล้านไร่ ในพื้นที่ 226 ป่าอนุรักษ์ มีหมู่บ้านทั้งสิ้น 4,192 หมู่บ้าน ที่ปัจจุบันผ่านมา 20 กว่าปี ยังพิสูจน์สิทธิอยู่ไม่คืบหน้า เป็นปัญหาความเดือดร้อนอยู่ ยังไม่ได้แก้ไขและไม่คืบหน้าเลย