โอกาส “แลนด์สไลด์” ของเพื่อไทย โอกาสของ รธน.60 กติกาคัดท้าย โอกาสผู้แทนฯ น่านรุ่นใหม่แจ้งเกิด(2)
วิเคราะห์การเมืองน่าน โดย เปี่ยมศักดิ์ แพทยกุล
กระแสการเลือกตั้ง ส.ส.น่าน ที่กำลังเกิดอาการท้าชิงแชมป์เดิมจากพรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 เขตขณะที่ “ทีมผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเคยมาเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครไว้แล้ว
ล่าสุด เริ่มเกิดปฏิกิริยาจากคู่แข่งต่างๆ ทำให้กระแสสวิงตามมาด้วยความไม่นิ่ง
ไม่ว่าเขต 1 จะเป็น “ดอย” สักก์สีห์ พลสันติกุล หรือเขต 2 ป.พิชิต โมกศรี หรือกระทั่งเขต 3 กำนันฉัตรชัย จิตตรง โดย “ผู้กองธรรมนัส – นฤมล” นำทีมเปิดตัวแคนดิเดตดังกล่าวไว้ เมื่อปลายปีวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564
พร้อมรับฟังเสียง “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” หวังผลักดันนโยบายและเข้าถึงประชาชน เพื่อยกระดับเป็นเมืองน่าอยู่
แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป “ผู้กองธรรมนัส” นำส.ส.ส่วนหนึ่งแยกออกมาจาก พปชร. เพื่อตั้งพรรคใหม่ พรรคเศรษฐกิจไทย
ทางด้านพรรคก้าวไกลนั้น ก็วางตัว “คนรุ่นใหม่” ที่จะตามขึ้นมาเขย่าฐานแห่งแชมป์เก่า ในแต่ละเขต จ.น่าน
โดยเฉพาะเขต 1 พรรคไทยสร้างไทย ของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ไม่น้อยหน้า
นำทีมลงพบปะมวลชนในพื้นที่เขต 1 อย่างแหลมคม โดยเฉพาะเตรียมเปิดตัว “ดาวรุ่ง” คนน่านรุ่นใหม่อย่างมั่นใจ เพียงรอการสลับขั้ว – ย้ายสมาชิกให้ลงตัว ตามกฎกติกา
ก่อนที่จะ “โหมโรง” หาเสียงในรูปแบบที่พรรคไทยรักไทยในอดีต เคยเรียกเสียงฮือฮาและทำสำเร็จไว้แล้วที่นี่
ด้วยยุทธวิธี “สร้างบ่อปลาไว้คนละบ่อ” ครึ่งหนึ่งสำหรับตนเอง ส่วนอีกบ่อที่เหลือก็ให้คู่แข่งไปแย่งกันเอาเอง
ขณะที่ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะมั่นอกมั่นใจอย่างยิ่ง ต่อผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม.ว่า เป็นบันไดก้าวแรกสู่แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน
อันเป็นก้าวแรกด้วยชัยชนะของ “สุรชาติ เทียนทอง” ว่าที่ ส.ส.กทม.เขตหลักสี่–จตุจักร พรรคเพื่อไทย ด้วยจำนวน 29,416 คะแนน ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 88,124 คน หรือคิดเป็น 52.68 %
และเป็นชัยชนะเลือกตั้งส.ส.เพียง 1 ใน 30 เขตทั้งกทม. ซึ่งลดลงจาก 33 เขตในปี พ.ศ. 2554 นั้น จึงอาจยังมิใช่แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน 400 เขต ดังที่มุ่งมั่นไว้
โปรดอย่าลืมเป็นอันขาด ว่าก่อนหน้านี้ชัยชนะจากสนามเลือกตั้งซ่อมส.ส.สงขลาและชุมพร เป็นผลวิน–วิน ของพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นฟากของพรรคร่วมรัฐบาล หาใช่พรรคฝ่ายค้านไม่
โปรดอย่าลืมเป็นอันขาด ว่าผลของการพ่ายคะแนนที่สนามเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม.นั้น เป็นเหตุผลส่วนตัวอันเนื่องมาจากการขาดคุณสมบัติเอง ของ “สิระ เจนจาคะ”
หาใช่ความนิยมต่อ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งรับผิดชอบ “ตลาดบน” เป็นด้านหลัก แฟนคลับจำนวนไม่น้อยที่วางตัวเฉยๆ ต่อสนามเลือกตั้งครั้งนี้
และในฐานะ buffer zone หรือเขตกันชนซึ่งรับผิดชอบเหนียวแน่นโดย 3 ป. ที่แบ่งเนื้องานดูแลชัดเจน อยู่ในกลุ่มก้อนทางการเมือง กลุ่มบริหารราชการ ตลอดถึงความมั่นคงของสถาบัน
ในทางการปกครอง “ลุงตู่” ยังมีฐานสนับสนุนจาก 250 ส.ว. อันเสมือนเป็นหัวหน้าพรรคพิเศษนี้อย่างมีนัยสำคัญ
รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลผสมต่างๆ ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย พลังท้องถิ่นไท เศรษฐกิจใหม่ ชาติพัฒนา รักษ์ผืนป่าประเทศไทย พลังชาติไทย รวมตลอดถึงอีก 10 พรรคเล็กยิบย่อย
ต่างก็ “เต็มใจ” ที่จะอยู่ร่วมขั้วเดียวกับรัฐบาลจนถึงที่สุด
“ลุงตู่” จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อ “เอกภาพ” ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในมือของหัวหน้า“ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฐานะผู้จัดการผลประโยชน์ของไร่กล้วย
ทว่าในทางตรงกันข้าม พปชร.เองต่างหาก ที่จะต้องรับผิดชอบในการเสนอชื่อแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปในอนาคต ต้องเป็นไปตามครรลองของ 3 ป.
นี่จึงไม่ควรสงสัยในคะแนนนิยมที่ดิ่งลงของ “มาดามหลี” หรือ สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 9 กทม. นอมินีของอดีตส.ส.สิระ ศิษย์ศรัทธายึด “หลวงพ่อป้อม” เป็นสรณะ
ขณะที่กูรูทางการเมืองอันยึด “รัฐธรรมนูญ 2560” เป็นหลักวิพากษ์–วิจารณ์ว่า “ลุงตู่” และพลพรรคภายใต้บารมีจะอยู่ยาว แต่พลพรรคภายใต้ “ลุงป้อม” ซึ่งตกอยู่ในสภาพ “ไผ่แตกกอ” ส่วนไหนจะอยู่หรือจะหลุดขั้ว ไหลไปตามเกมที่เรียกว่า “แลนด์สไลด์” ของบางฝ่าย
ซึ่งโอกาสนั้น พรรคเพื่อไทยอาจไม่สมหวัง จากก้าวแรกไปอีก 300 – 400 เขต แม้กระทั่งแนวโน้มในพื้นที่ จ.น่านอย่างที่เคยได้มา
ฐานที่มั่นสำคัญของ “หัวหน้าชลน่าน” เอง ก็อาจจะอยู่ไม่ครบ