ตอนที่ 1 – กรอ.ล้านนาตะวันออกรุกเป็น “ไข่แดง” เขตเศรษฐกิจพิเศษ ความต้องการของพื้นที่สอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ”
รายงานพิเศษโดย เปี่ยมศักดิ์ แพทยกุล
……………….
เผยท่องเที่ยว 4 จังหวัดเหนือตอนบนโงหัว ช่วงปีใหม่ฟันรายได้กว่า 9 พันล้านบาท กรอ.เผยเหตุโควิด-19 กำลังขาลง – เลยจุดพีคมาแล้ว เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อ วิพากษ์ “ระเบียงเศรษฐกิจ” ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ความต้องการต้องมาจากคนในพื้นที่
กรอ.เหนือตอนบน 2 เปิดฉากขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังซมพิษโควิด-19 คุมเข้ม social distance ยาวกว่า 2 ปี จนแต่ละจังหวัดเลยจุดพีคมาแล้ว สถิติท่องเที่ยวแดนบวกช่วงส่งท้ายปี 64-65 ฟันรายได้กว่า 9 พันล้านบาท หัวหน้ากลุ่มย้ำให้ยึด “ยุทธศาสตร์” ต้องมาจากคนในพื้นที่ ไม่ใช่จากผวจ. เน้นรับฟังความเห็นร่วมกันเป็นสำคัญ เชื่อมโยงนำสู่การแก้ไขปัญหาให้รัฐส่วนกลางรับความต้องการที่ใหญ่กว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมที่ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม2565 คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่2/2565 ของกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน โดยนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดทำหน้าที่ประธานประชุม ตามวาระต่างๆ สรุปสถานการณ์หมอกควัน PM.2.5 เห็นผลสัมฤทธิ์จัดการที่ดี โดยเฉพาะการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มลดลง รณรงค์ฉีดวัคซีนและเชื่อว่า จะสามารถประชุม ONSITE ได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวนั้น ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 ระยะ 3 เดือนล่าสุด มีนักท่องเที่ยวกว่า 2.4 ล้านคน เปรียบเทียบรอบปีที่แล้วในระยะเวลาเดียวกัน สถิติเพิ่มขึ้นร้อยละ 133.26 เป็นชาวไทย 2.024 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.06 เป็นชาวต่างชาติ 1.9 หมื่นคน ร้อยละ 0.94 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยเปอร์เซ็นต์ความเปลี่ยนแปลง จ.เชียงราย+142.36 พะเยา +178.68 แพร่ +66.02 และน่าน +149.35 ก่อให้เกิดรายได้ 9,429.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 116.34 ส่วนใหญ่มาจากชาวไทย รวมถึงแต่ละจังหวัดก็มีกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวแต่ละเดือน ในช่วง low season ไว้ด้วย
ส่วนเรื่องเพื่อพิจารณา เตรียมความพร้อมทบทวนและจัดทำแผนพัฒนาของกลุ่มจังหวัดนี้ ปี2567 และของบประมาณ นอกเหนือจากแผน 5 ปี 2566 – 2570 ประเด็นพัฒนา 5 ด้านประกอบด้วย 1.การค้า – ลงทุน 2.การเกษตร 3.การท่องเที่ยว 4.สิ่งแวดล้อม และ 5.ด้านอื่นๆเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงกับอนุภาค GMS (Greater Mekong Subregion) หรือกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบไปด้วยไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและจีนตอนใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 (โดยครอบคลุมเนื้อที่ 2.34 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวม 257.5 ล้านคน) หรือกลุ่ม 7 ประเทศอ่าวเบงกอลคือ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ภูฐานพม่า ไทยและเนปาล
การเชื่อม AEC (ASEAN Economic Community) เพื่อการขยายเศรษฐกิจของภาค หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักอีก 2 เสา คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน(ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) และประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC)
ทั้งนี้ เป้าหมายของ AEC คือ (1) ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือโดยเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น (2) ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (3) ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และ (4) ส่งเสริมการรวมตัวเข้ากับประชาคมโลกของอาเซียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ร่วมประชุมจากสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคเหนือ ในฐานะคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ) ได้แนะนำจัดทำแผนฯ ให้ดูกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติก่อน และสอดคล้องกับแผนของภาคเหนือ กำหนดการพัฒนาไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกชี้วัดของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้ใช้ GDP ตัวที่สองเป็นสัมประสิทธิ์กระจายรายได้ จึงควรเสนอตัวชี้วัดที่เหมาะสม สามารถวัดได้ทั้งเชิงประมาณและคุณภาพ ดังนั้นต่อไปการทำกรอบแผนจะต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน ฟังความเห็นคณะกรรมการบอร์ดของภาคเหนือลงมา
เนื่องจากมีการปรับแผนพัฒนาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ใช้การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งล่าสุดประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง–ตะวันตกและภาคใต้) มีจ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ขายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งตนเห็นว่าควรดูตั้งแต่ GMS มาก่อน มีความเปลี่ยนแปลงขยายขอบเขตมากขึ้น
“เรื่องระเบียงเศรษฐกิจ เราอาจจะมองว่าไม่ได้อยู่ในแผน One Belt One Road แต่แท้จริงเราอยู่เต็มเป็นเส้นที่ 4 China-Indochina Peninsula economic corridor หรือ “เส้นทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน” เพื่อความร่วมมือทางทะเล ถ้าคิดเฉพาะจ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ไม่ได้เพราะจะตกน่านซึ่งเป็นแนวเดียวกับเศรษฐกิจสำคัญ เส้นทาง R3A มาจริงๆ เข้าทางด่านห้วยโก๋น จ.น่านด้วย อีกจุดก็คือของพะเยาเราก็ตกด้วย” สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคเหนือระบุ และว่า สำคัญตอนนี้ได้เชื่อมเข้าไปที่ด่านภูดู่ ใกล้ทางเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพราะฉะนั้นถ้ามองแค่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเดียว อาจทำให้เราเสียโอกาส จึงควรปรับเสนอครม.เข้าไปใหม่
(ข่าวนี้ยังไม่จบ โปรดรอติดตามตอนต่อไป น่านเรียกร้องทั้งกลุ่มจังหวัดเป็น “ไข่แดงในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” โอบล้อมด้วยจีน สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เข้มข้นการพัฒนาท่องเที่ยวผลักดันเปิดด่านทุกด้าน – ผลักดันการท่องเที่ยว)