ในประเทศ

กรมทางหลวง สรุปผลการศึกษาโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 401 สายแยกโคกเคียน – เขาสก

กรมทางหลวงได้จัดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 401 สายแยกโคกเคียน – เขาสก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.00 น. ณ ศาลาประชาคมที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาด้านวิศวกรรม มาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการปรับปรุงรายละเอียดการออกแบบโครงการ และกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย แซ่ลิ้ม รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงพังงาฝ่ายปฏิบัติการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการแขวงทางหลวงพังงา เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
การจัดประชุมในครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้นำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้


พื้นที่โครงการมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณแยกโคกเคียน ตำบลโคกเคียน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บนทางหลวงหมายเลข 401 กม.0+000 และมีจุดสิ้นสุดบริเวณ กม.32+550 บนทางหลวงหมายเลข 401 ตำบลคลองศก อำเภอพนม
จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมระยะทาง 32.55 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยแบ่งพื้นที่ศึกษาเป็น 5 พื้นที่ ดังนี้
พื้นที่ที่ 1 พื้นที่ชุมชน บริเวณ กม.0+000 ถึง กม.2+450 และ กม.20+275 – กม. 23+600 ระยะทางรวมประมาณ 5.775 กิโลเมตร ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร โดยแบ่งแยกทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก (Raised Median) กว้าง 5.10 เมตร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ความกว้างไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร ซึ่งความกว้างของเกาะกลางสามารถออกแบบช่องจราจรเพื่อรอเลี้ยวกลับรถได้ (Storage Lane) อย่างเพียงพอ โดยไม่กีดขวางช่องจราจรของรถทางตรงในจุดกลับรถและบริเวณทางแยกและมีพื้นที่เกาะกลางสามารถจัดภูมิทัศน์ได้


พื้นที่ที่ 2 พื้นที่ราบสลับเนินเขา บริเวณ กม.2+450 ถึง กม.5+800 ,กม.9+800 ถึง กม.20+275 และ กม.23+600 ถึง กม.26+500 ระยะทางรวมประมาณ 16.725 กิโลเมตร ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) กว้าง 2.60 เมตร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ความกว้างไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร เป็นแนวทางการปรับปรุงรูปแบบถนนโดยทำการขยายคันทางเดิมออกทั้ง 2 ข้าง จาก
2 ช่องจราจร ให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร และเนื่องจากแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านพื้นราบสลับเนินเขามีอุปสรรคในการขยายคันทางที่ไม่สามารถทิ้งเชิงลาดตามปกติได้ จึงจำเป็นต้องจำกัดพื้นที่ก่อสร้างคันทางให้น้อยที่สุด
พื้นที่ที่ 3 พื้นที่ต้นหางนกยูงควนปัก บริเวณ กม.5+800 ถึง กม.8+100 ระยะทางรวมประมาณ 2.300 กิโลเมตร แบ่งเป็น
1.ช่วงขาขึ้นควนปัก (บริเวณ กม.5+800 ถึง กม.6+450 ระยะทาง 0.650 กิโลเมตร) ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรแยกคันทางโดยกำแพงคอนกรีต ความกว้างรวม 3.00 เมตร โดยถนนฝั่งมุ่งหน้าสู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ช่องจราจร จะใช้คันทางเดิมโดยมีการขยายคันทางไปทางด้านซ้ายและใช้กำแพงดินประเภท Retaining Wall ส่วนถนนฝั่งมุ่งหน้าสู่ จังหวัดภูเก็ต หรือทางด้านขวา มีการออกแบบเป็นโครงสร้างสะพาน จำนวน 2 ช่องจราจร

2.ช่วงด้านบนควนปัก (บริเวณ กม.6+450 ถึง กม.6+650 ระยะทาง 0.200 กิโลเมตร) ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต ความกว้างรวม 3.00 เมตร โดยขยายคันทางเดิมออกไปทั้ง 2 ด้าน จาก 2 ช่องจราจร ให้เป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจรใช้เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) มีการขยายคันทางช่วงประมาณ กม.6+450 ถึง กม.6+650 ทางด้านฝั่งซ้ายทาง โดยการสกัดทำลายหน้าผาหินเพื่อให้แนวเส้นทางเป็นเส้นตรง และมีการสลักยึดหิน (Rock Bolts) คู่กับตาข่ายป้องกันหินถล่ม (Rockfall Protection Netting) เพื่อป้องกันหินร่วงลงมาบนผิวจราจร
3.ช่วงขาลงควนปัก (บริเวณ กม.6+650 ถึง กม.8+100 ระยะทาง 1.450 กิโลเมตร) ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร แยกคันทางโดยกำแพงคอนกรีต ถนนฝั่งมุ่งหน้าสู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ช่องจราจร จะใช้คันทางเดิมโดยมีการขยายคันทางไปทางด้านซ้ายและใช้กำแพงดินประเภท Retaining Wall ส่วนถนนฝั่งมุ่งหน้าสู่ จังหวัดภูเก็ต หรือทางด้านขวาทาง มีการออกแบบเป็นโครงสร้างสะพาน จำนวน 2 ช่องจราจร
พื้นที่ที่ 4 พื้นที่ต้นตะแบก บริเวณ กม.8+100 ถึง กม.9+800 ระยะทางรวมประมาณ 1.700 กิโลเมตร ออกแบบเป็นทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร มีการก่อสร้างคันทางใหม่ทางด้านซ้ายทางเพิ่มอีก 2 ช่องจราจร ทิศทางมุ่งหน้าไป
จังหวัดสุราษฏร์ธานี และปรับปรุงถนนเดิมเป็น 2 ช่องจราจร ในทิศทางเดียวกัน มุ่งหน้าไป จังหวัดภูเก็ต โดยแบ่งแยกทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบร่อง (Depressed Median) กว้าง 12.55 เมตร รูปแบบนี้จะเก็บรักษาแนวต้นไม้เดิมไว้ และติดตั้งกำแพงคอนกรีต (Barrier) เพื่อป้องกันรถยนต์เสียหลักพุ่งออกนอกเขตถนน
พื้นที่ที่ 5 พื้นที่ภูเขาสูงชัน บริเวณ กม.26+500 ถึง กม.32+550 ระยะทางรวมประมาณ 6.050 กิโลเมตร ออกแบบขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median)
กว้าง 2.00 เมตร การขยายคันทางจะมีการขยายไปทั้งด้านฝั่งภูเขาและฝั่งเหว โดยมีการออกแบบป้องกันการพังทลายของลาดดินด้วย
สำหรับการออกแบบจุดตัดทางแยก สรุปได้ว่ามีทางแยก 6 แห่ง ที่เหมาะสมสำหรับนำมาออกแบบปรับปรุงทางแยก แบ่งเป็น ทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง และทางแยกระดับดิน 4 แห่ง ดังนี้
ทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง ได้แก่
1.แยกโคกเคียน (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 401 – ทางหลวงหมายเลข 4) ออกแบบเป็นระบบวงเวียน ไม่ติดสัญญาณไฟจราจร สำหรับทิศทางตรงจากทางหลวงหมายเลข 4 ไป ทางหลวงหมายเลข 401 (จังหวัดภูเก็ตไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี) และทิศทางจากทางหลวงหมายเลข 401 ไปทางหลวงหมายเลข 4 (จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจังหวัดภูเก็ต) ออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร
2.แยกป่าไม้ (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 401 – ทางหลวงหมายเลข 4090) ออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศเดิม โดยด้านตะวันตกของทางแยกเป็นพื้นที่สูงไล่ระดับลาดลงไปทางด้านตะวันออก ทำให้ทางหลวงหมายเลข 401 ถนนเส้นเดิมของโครงการวิ่งในลักษณะลาดลงจากเนิน การจราจรในทิศทางเลี้ยวขวา จากทางหลวงหมายเลข 4090 ไปทางหลวงหมายเลข 401 จึงใช้วิธีเลี้ยวซ้ายเข้าทางคู่ขนานไปกลับรถลอดใต้สะพานบก บนทางหลวงหมายเลข 401 (บนพื้นที่สูง) และทิศทางเลี้ยวขวาจากทางหลวงหมายเลข 401 ไปทางหลวงหมายเลข 4090 ต้องวิ่งเข้าทางคู่ขนานเพื่อไปกลับรถที่สะพานกลับรถ (U-turn Bridge) ข้าม ทางหลวงหมายเลข 401 (พื้นที่ต่ำ) และจึงมาเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ทางหลวงหมายเลข 4090 ทางแยกนี้ไม่ติดสัญญาณไฟจราจรรถยนต์สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระ

ทางแยกระดับดิน 4 แห่ง ได้แก่
1.ทางแยกหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเคียน กม.5+250 ออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ มีการออกแบบถนนทางคู่ขนาน (Frontage Road) ทั้ง 2 ฝั่งทางระหว่างหน้า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเคียน
กม.5+175 ถึง กม.5+900 รถยนต์สามารถวิ่งแบบวนเป็นวงกลม 2 ฝั่งไปมาหากันได้ โดยลอดใต้สะพานบก (ระดับดินเดิม) ที่มีช่องลอด 3.50 เมตร หน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเคียน และสะพานบก (ระดับดินเดิม) ช่องลอด 3.50 เมตร บริเวณ กม.5+900 เพื่อเข้าใช้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกเคียน และกลับรถซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดกวแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่ติดสัญญาไฟจราจร
2.ทางแยกทางเข้าบ้านเชิงปราง (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 401 – ถนนองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดพังงาหมายเลข 3037) ออกแบบจุดตัดทางแยกบริเวณนี้ให้เป็นจุดกลับรถใต้สะพานไม่ติดสัญญาณไฟจราจรสำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก ที่มีความสูงช่องลอกไม่เกิน 2.50 เมตร โดยจะมีการก่อสร้างสะพานบกช่วงสั้นที่ กม.8+119 และมีการเวนคืนที่ดินบางส่วรเพื่อก่อสร้างทางคู่ขนาน (Frontage Road)
3.ทางแยกปากเหล (จุดตัดทางหลวงหมายเลข 401 – ทางหลวงชนบทพังงา หมายเลข 3002) ออกแบบสะพานยกระดับในแนวเส้นทางหลักให้สูงกว่าถนนเดิมเพื่อรับกับโค้งที่ลาดลงมาจากเนิน และมีการปรับโค้งให้ราบขึ้นหรือเพิ่มรัศมีขึ้น ทำให้ต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อปรับโค้งและมีการออกแบบทางคู่ขนาน (Frontage Road) ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเลี้ยวรถเข้าออก ทางหลวงชนบทพังงา หมายเลข 3002 ได้
4.ทางแยกทางหลวงชนบทพังงา หมายเลข 3004 กม.26+100 ออกแบบในลักษณะการกลับรถใต้สะพานไม่ติดสัญญาณไฟจราจรรถยนต์ที่จะเข้าและออกทาง ทางหลวงชนบทพังงา หมายเลข 3004 ต้องเข้าใช้ถนนทางคู่ขนาน (Frontage Road) เพื่อกลับรถใต้สะพาน และเนื่องด้วยคลองหินลับมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นคลองลึกและสูงชัน ทำให้สามารถออกแบบช่องลอดไม่มากกว่าคลองจุดอื่นอยู่ที่ความสูงไม่เกิน 5.50 เมตร และมีการขยายช่วงสะพานให้กว้างขึ้น เพื่อให้รถยนต์ขนาดใหญ่กลับรถได้โดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร
ทั้งนี้ โครงการ ได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการก่อสร้าง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้ โครงการจะดำเนินการรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาโครงการให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และจะนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนดำเนินการก่อสร้างประมาณปี 2572 และคาดว่าสามารถเปิดใช้บริการได้ประมาณปี 2575 โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้
2 ช่องทาง ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.แยกโคกเคียน-เขาสก.com 2.Line Official : @711tufmd

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า