สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 การประชุมหารือเตรียมจัดงาน SAMVAD ครั้งที่4
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980
การประชุมหารือเตรียมจัดงาน SAMVAD ครั้งที่4
วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2568 ฯพณฯมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ฯพณฯนาเกซ ซิงค์ เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมหารือกับ ผู้บริหารสถาบันคลังปัญญา(Think Tank) 2 แห่ง ที่จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 คือ Vivekananda International Foundation (VIF)โดย Ms.Anuttama Ganguly เลขาธิการ VIF และ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980 โดยดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980
ฯพณฯมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงทั้ง 2 ครั้งที่จัดโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เป็นความเชื่อมโยงระหว่าง“รัฐ”ต่อ “รัฐ” ส่วนโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 3 อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตรธาตุมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย และโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 มหานทีคงคา ลุ่มน้ำโขงประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ เป็นความเชื่องโยงระหว่าง ”ประชาชน” ต่อ “ประชาชน”
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พยายามผลักดันให้ การประกาศศตวรรษแห่งธรรม(Dhamma Century) เป็นหัวข้อในเวทีการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นที่อาคาร ESCAP ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาค (เอเซียแปซิฟิค)ของสหประชาชาติจะถือเป็นก้าวแรกของการนำ “ธรรมะ” เข้าสู่เวทีสหประชาชาติ ขณะนี้การนำเสนอ“ธรรมะ” ในเวทีสากลต้องก้าวข้ามจาก ”ศรัทธา“ (Faith) ไปสู่ “ปัญญา“ (Wisdom)
ขณะที่ ฯพณฯ นาเกซ ซิงค์ กล่าวถึงความเป็นมาของการประชุม SAMVAD เกิดจากการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อปี 2015 ในระยะแรกการประชุม SAMVAD เป็นการประชุมระหว่างประเทศมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางศาสนา ปรัชญาและวัฒนธรรม ในบริบทของอารยธรรมอินเดีย และภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมนี้จัดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆที่มีมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน รวมถึงสร้างความเข้าใจในคุณค่าด้านศาสนาและจริยธรรมเพื่อสนับสนุนความสามัคคีและสันติภาพระดับโลก
SAMVAD เป็นคำภาษาสันสกฤต หมายถึง การสนทนา VIF จัดการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 1 ที่กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดียในปี 2015, การประชุม SAMVAD ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ เมืองอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ในปี2019
การประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2568 ภายใต้หัวข้อ Global Hindu-Buddhist Initiative on Conflict Avoidance and Environment Consciousness เป็นการประชุมระดับโลกที่เน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เพื่อ แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยการประชุมมุ่งเน้นแนวทางปรัชญาที่มีรากฐานจากศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมาแก้ปัญหาสำคัญในโลกปัจจุบัน
Ms.Anuttama Ganguly เลขาธิการ VIF ได้เรียนเชิญ ฯพณฯมาริษ เสงี่ยมพงษ์“เป็น ”Speaker”ในเวทีระดับรัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นจะมี รัฐมนตรีจากสาธารณรัฐอินเดีย รัฐมนตรีจากประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีจากราชอาณาจักรภูฏาน รัฐมนตรีจากสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา รัฐมนตรีจากสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล รัฐมนตรีจากราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐมนตรีจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รัฐมนตรีจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และรัฐมนตรีจากราชอาณาจักรไทย ตอบรับเข้าร่วมประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 แล้ว
เลขาธิการ VIF ยังอธิบายว่า ในการประชุม SAMVAD จะมี 3 เวทีคู่ขนาน คือ
1]. เวทีของผู้นำทางการเมือง
2].เวทีของผู้นำทางศาสนา
3].เวทีตัวแทนจากกลุ่ม Think Tank นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การประชุมโต๊ะกลมของผู้นำจิตวิญญาณ และศาสนา จนถึงขณะนี้มีตัวแทนจากองค์กร Think Tank จาก 20 ประเทศตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เน้นถึงการประกาศศตวรรษแห่งธรรม หรือ Dhamma Century เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ที่ต่อยอดมาจากวิสัยทัศน์ “Century of Asia” ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ในปี 2015 ที่ว่า ”ศตวรรษแห่งเอเซียจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีธรรมะ“
ขณะนี้สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ในฐานะผู้ร่วมจัดประชุม SAMVAD ร่วมกับ VIF และองค์กรพันธมิตร อาทิ International Budhist Confederation (IBC), Bharat Studies Center มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดยเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กำลังเชิญ ผู้นำระดับรัฐมนตรี และตัวแทนสงฆ์จากประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 ด้วย
การประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์2568 ที่อาคาร ESCAP กรุงเทพฯ และที่โรงแรมโซฟีเทล โภคีธรา จังหวัดกระบี่ซึ่งที่จังหวัดกระบี่ทางภาคใต้ของไทยมีความสำคัญทางการค้า และ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยุคโบราณระหว่างอินเดียใต้ สุวรรณภูมิ จีนโบราณ และไกลออกไปถึงกรีกโบราณรวมถึงอาณาจักรโรมัน จังหวัดกระบี่ ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าฮินดูโบราณ และตำนานที่เกี่ยวข้องกับรามายณะ พระอิศวร และตำนานของนาค โดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จะนำเสนอ “ผลงานวิจัยกระบี่มรดกอารยธรรมศักดิ์สิทธิ์“ เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4
เขียนโดย : ตวงพร อัศววิลัย