ศาสนา-ศิลปวัฒนธรรม

สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก (The Art Institute of Chicago) แจ้งส่งคืนโบราณวัตถุจากปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ กลับคืนสู่ประเทศไทย

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงกรณีสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก (The Art Institute of Chicago)  สหรัฐอเมริกา แจ้งความประสงค์ส่งคืนโบราณวัตถุให้กับกรมศิลปากร จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชิ้นส่วนเสาติดผนัง สลักจากหินทรายรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ (Fragment of a Pilaster with Krishna lifting Mount Govardhana) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประเภทปราสาทหิน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 หรือประมาณ 900 ปี ทั้งนี้กรมศิลปากรได้มอบหมายให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตรวจสอบข้อมูลโบราณวัตถุดังกล่าว พบว่าเป็นชิ้นส่วนเสาติดผนังด้านซ้ายของกรอบประตูมณฑปด้านทิศตะวันออก  ของปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งคาดว่าถูกลักลอบนำออกไปจากประเทศไทยราวปี .. 2508 ก่อนที่   กรมศิลปากรจะเริ่มโครงการบูรณะปราสาทพนมรุ้ง

ก่อนหน้านี้ ดร. Nicolas Revire ผู้เชี่ยวชาญ ด้านศิลปะและโบราณคดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ได้เดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และพบหลักฐานที่เชื่อมั่นได้ว่าเสาติดผนังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะที่สถาบัน ได้รับบริจาคเมื่อปี .. 2509 นั้นมาจากปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ สถาบันฯ จึงมีความห่วงกังวลว่า โบราณวัตถุดังกล่าวอาจมีที่มาที่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีความประสงค์ส่งมอบคืนให้แก่รัฐบาลไทย โดยสถานะปัจจุบัน คณะกรรมการบริหารทรัพย์สิน (Board of Trustees ) ของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกได้อนุมัติให้ถอดโบราณวัตถุรายการนี้ออกจากทะเบียนของสถาบันฯ แล้วตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา และได้ประสานกรมศิลปากรถึงขั้นตอนการเตรียมการส่งคืนสู่ประเทศไทย                โดยนายพนมบุตร จันทรโชติ เปิดเผยว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทราบในเบื้องต้นด้วยแล้ว

โดย รมว. สุดาวรรณ มีความเห็นว่า แม้โบราณวัตถุดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ในรายการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ เป็นการเสนอคืนของสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยจะได้รับโบราณวัตถุสำคัญกลับคืนมา ซึ่งสามารถนำมาเติมเต็มชิ้นส่วนที่ขาดหายไปของโบราณสถานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในนามของกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย จึงขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโกเป็นอย่างยิ่ง ที่ตระหนักถึงจรรยาบรรณในการครอบครองโบราณวัตถุที่มีที่มาถูกต้อง                       และความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะให้ความสำคัญในการต่อต้านการค้าโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวสรุปว่า การส่งคืนโบราณวัตถุครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือของทั้งสองประเทศ และเราหวังว่าสิ่งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือทางวัฒนธรรมร่วมกันต่อไป    

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า