สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ลงนาม MOU รณรงค์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม
นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร เป็นประธานนำลงนามMOU เครือข่ายดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมจังหวัดยโสธร โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอทั้ง 9 อำเภอในพื้นที่จังหวัดยโสธร และหน่วยงานภาคีเครือข่าย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 และเขต 2 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร องค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร เทศบาลเมืองยโสธร สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดยโสธร และสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดยโสธร ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร
ทั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้เกิดความร่วมมือ ในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม โดยมีข้อตกลงร่วมกัน ดังนี้
1. สนับสนุนสื่อสารให้ประชาชนได้รับข่าวสารสุขภาพ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความรอบรู้สุขภาพ มีพฤติกรรมลดการบริโภคเกลือและโซเดียม
2. สนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ อาหารลดโซเดียม อาหารลดหวาน–มัน–เค็มเมนูชูสุขภาพ อาหารทางเลือกสุขภาพ เพื่อให้บริการจำหน่ายอย่างแพร่หลายและสามารถเข้าถึงได้ง่าย
3. สนับสนุนและจัดให้มีกิจกรรมสุขภาพและจัดสิ่งแวดล้อมองค์กร สถานที่ทำงานให้เอื้อ ต่อการลดพฤติกรรมการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อขับเคลื่อนด้านสุขอนามัยให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดยโสธร ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม
โดยในทางวิทยาศาสตร์ เกลือ คือสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่า โซเดียมคลอไรด์ คำว่าเกลือและโซเดียม จึงมักใช้แทนกันและกัน จนทำให้ หลายคนคิดว่าเกลือกับโซเดียมคือสารเดียวกันแต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเกลือคือสารประกอบที่มีโซเดียมร้อยละ 40 และคลอไรด์ร้อยละ 60 โดยน้ำหนัก ดังนั้นเมื่อพูดถึง เกลือ 1 กรัม จึงหมายถึงโซเดียม 0.4 กรัม
ส่วน “โซเดียม” คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1,500 มิลลิกรัม/วันแต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา และหากได้รับปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น