อนุทินชื่นชม รพ.ฝาง มีความพร้อมทั้งดูแลผู้ติดเชื้อและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันโควิด 19 พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่เจ้าหน้าที่และอสม. ผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นและสร้างแรงจูงใจประชาชนให้เข้าถึงการรับวัคซีน พบมีความพร้อมทั้งการดูแแลผู้ติดเชื้อและให้บริการฉีดวัคซีน แนวโน้มผู้ติดเชื้อในพื้นที่ลดลง เน้นรักษาในระบบHI /CI
วันที่ (15 มกราคม 2565) ที่โรงพยาบาลฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากรรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่เจ้าหน้าที่ และ อสม. ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน (VA VI for Vaccine Hesitancy) จำนวนกว่า 30 ราย
นายอนุทินกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ให้กำลังใจ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เจ้าหน้าที่และอสม. โรงพยาบาลฝาง พบมีความพร้อมและความตั้งใจในการจัดบริการทั้งผู้ป่วยในระบบปกติ และประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนอย่างมาก โดยเฉพาะการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ในพื้นที่ ทำให้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงอย่างชัดเจน และยังร่วมกับโรงพยาบาลสวนปรุง และกรมสุขภาพจิต จัดทีมสุขภาพจิต และอสม. ติดตาม ประเมินสภาพจิตใจผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาทั้งใน HI/CI โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลหลัก รวมทั้งประเมินผ่านแอปพลิเคชันไลน์“คลินิกให้การปรึกษา” และสายด่วนสุขภาพจิต กว่า 900 ราย ปัจจุบันเน้นการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบ HI /CI เป็นหลัก ขณะที่ในโรงพยาบาลก็มีห้องความดันลบพร้อมดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก โดยมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในระบบ HI 74 ราย และ CI 30 ราย
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 พบว่าได้ฉีดให้แก่ประชาชนทั้งคนไทยคนต่างด้าวและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยข้อมูลถึง 14 มกราคม 2565 อ.ฝาง ฉีดวัคซีนสะสม174,258 โดส บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ใน อ.ฝาง 900 คน ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้วร้อยละ 86.88 ที่สำคัญ มีการจัดทีมสุขภาพจิต ร่วมกับ อสม. ลงพื้นที่ใช้ภาษาถิ่นสนทนาให้ข้อมูลสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่ยังมีความลังเลตัดสินใจฉีดเข้ารับการฉีดวัคซีนทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากขึ้น
ผลการศึกษาเผย ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้กว่าร้อยละ 90
ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เผยผลการศึกษาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้กว่าร้อยละ 90 และป้องกันการเสียชีวิตถึงร้อยละ 99 ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ อนุญาตสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินกว่า 500 แห่งเปิด On Site ได้ 17 มกราคมนี้
วันนี้ (15 ม.ค. 65) นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 190 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่ 11 ราย ได้แก่ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตามโปรแกรม Test & Go 2 ราย, ระยอง ภูเก็ต ลำพูน ราชบุรี นครศรีธรรมราชหนองบัวลำภู ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และพะเยา จังหวัดละ 1 ราย ที่เหลือเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด โดยมาจากคลัสเตอร์ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 17 ราย จาก 9 คลัสเตอร์ประกอบด้วย ร้าน Hom Bar 4 ราย สะสม 124 ราย, ร้าน Zoe in Yellow 3 ราย สะสม 90 ราย, ร้านท่าช้าง 3 ราย สะสม 88 ราย, กลุ่มผู้มีไทม์ไลน์ไปสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง 2 ราย สะสม 87 ราย, ร้าน The Goodview Bar & Restaurant 1 ราย สะสม 87 ราย, ร้านปี้หล้า In the Garden 1 ราย สะสม 3 ราย, ร้าน Thay 1 ราย สะสม 11 ราย, ร้านฉลุย 1 ราย สะสม 30 รายและร้าน Woodstock Café & Bar 1 ราย สะสม 3 ราย
สำหรับคลัสเตอร์อื่น ๆ ในชุมชน พบเพิ่ม 3 ราย จากโกดังแยกสินค้า Kerry ตำบลไชยสถานอำเภอสารภี 2 ราย และตลาดเมืองใหม่ 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและเชื่อมโยงคลัสเตอร์อีก 43 ราย และผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า 110 ราย ขณะที่การติดเชื้อในครอบครัวพบเพิ่ม 4 ราย จากครอบครัวหมู่ 3 ตำบลสันทรายน้อย อำเภอสันทราย 2 ราย, ครอบครัวหมู่ 6 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ 1 รายและครอบครัวหมู่ 6 ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม 1 ราย
ด้านการฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 คืบหน้าแล้วกว่า 1.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 90.41 อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในห้วงเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ 52 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ เพิ่มไปถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในห้วงเดือนธันวาคม2564 พบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 96-98 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเสียชีวิตได้สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้ครบถ้วน
สำหรับการเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ (On Site) ของสถานศึกษา ขณะนี้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการอนุญาตให้สถานศึกษาที่ได้รับการประเมินและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน Covid Free Setting กว่า 500 แห่ง เปิดทำการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้ในวันจันทร์ที่ 17 มกราคม นี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากประชาชนท่านใดมีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะด้านทางเดินหายใจ ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือจุดตรวจเชิงรุก 3 แห่ง คือ
อาคารอเนกประสงค์สวนสุขภาพบ้านเด่น ตำบลวัดเกต, สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ตำบลศรีภูมิ และศูนย์วัณโรคเขต 10 เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน ตั้งแต่ 08.30 – 15.00 น. โดยผู้ที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษา สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ศูนย์ประสานงาน ATK ระดับจังหวัด ที่หมายเลข 065-4724315-9 หรือศูนย์ประสานงาน ATK ระดับอำเภอทุกอำเภอ ตั้งแต่เวลา08.30 – 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่จะทำการนัดหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองอาการ ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จะแนะนำให้แยกกักที่บ้าน หรือ Home Isolation แต่หากที่บ้านไม่เข้าเกณฑ์ก็จะส่งเข้าสู่การแยกกักในชุมชน หรือ Community Isolation โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลติดตามอาการทุกวัน ซึ่งหากอาการแย่ลง หรือไม่ดีขึ้น คือ มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ หายใจเหนื่อยหอบ ในผู้ใหญ่หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ส่วนในเด็ก จะมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ทานอาหารหรือนมได้น้อย ก็จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่/ข่าว
15 มกราคม 2565