จีนศึกษา ๒๘๗ เทศกาลทุเรียนไทยในประเทศจีน
จากการที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในจีนได้จัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับเทศกาลทุเรียนไทยปี พ.ศ.๒๕๖๕ ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๙ – ๒๒ ก.ค.๖๕ โดยนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทรเอกอัคราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้กล่าวว่า ปีที่แล้วการส่งออกทุเรียนของไทยติดอันดับโลก และจีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนไทยรายใหญ่ ซึ่งไทยส่งออกทุเรียนมากกว่า ๘๐๐,๐๐๐ตันไปยังประเทศจีน เพิ่มขึ้น ๘๒.๔% จากปี พ.ศ.๒๕๖๓ และสูงเป็นประวัติการณ์
โดยเฉพาะหลังจากที่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมของปีนี้ การค้าผลไม้ไทย–จีน ก็ได้เปิดโอกาสใหม่เข้ามาด้วยและมาตรการด้านพิธีการศุลกากรต่างๆ ก็ได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุเรียนไทยซึ่งมีคุณภาพสูงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และตามข้อมูลสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายเกษตรของสถานเอกอัครราชทูตไทยในจีน พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การส่งออกทุเรียนไทยไปจีนมีมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับภาพรวมในปี พ.ศ.๒๕๖๓ และคาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๖ ม.ค.๖๕ รถไฟผลไม้บรรทุกทุเรียนไทยมาถึงสถานีรถไฟผิงเสียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กวางสี) ซึ่งเป็นรถไฟขบวนแรกที่นำเข้าผลไม้จากประเทศในกลุ่มอาเซียนภายหลังการบังคับใช้ RCEP ที่ด่านผิงเสียงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยการรถไฟจีน–ลาว ที่เปิดให้สัญจรไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้ผลไม้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศจีนผ่านการขนส่งแบบผสมผสานระหว่างทางถนนและทางรางได้ ทำให้เวลาและค่าใช้จ่ายในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศจีนลดลงประมาณ ๓๐% ซึ่งในอนาคต หลังจากที่ทางรถไฟสายไทยเชื่อมต่อกับรถไฟจีน–ลาว คาดว่าสินค้าที่ส่งออกไปยังจีนจะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ประมาณ ๖๐%
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ – ๒๔ ก.ค.๖๕ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายเกษตรและฝ่ายการพาณิชย์ไทยในนครกว่างโจว รวมทั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติกว่างโจวร่วมมือกับวัฒนธรรมเขตหนานซา สำนักวิทยุโทรทัศน์ การท่องเที่ยวและกีฬาของเมืองกวางโจว ตลอดจนคณะกรรมการการต่างประเทศเขตหนานซา สำนักงานพาณิชย์เขตหนานซา สำนักงานเกษตรและชนบทเขตหนานซา อุทยานระบบนิเวศนกน้ำหนานซา และซีพี กรุ๊ป โลตัส ร่วมกันจัดเทศกาลทุเรียนไทย พ.ศ.๒๕๖๕ ที่ Nansha Water Bird World ด้วยหัวข้อ “คิดถึงทุเรียน คิดถึงประเทศไทย” งานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รู้จักและเข้าใจถึงความหลากหลายของทุเรียนไทย ขยายโอกาสของทุเรียนหลากหลายพันธุ์ของไทยในตลาดจีน และในเวลาเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมผลไม้ไทยนำเข้าผ่านท่าเรือหนานซา ขับเคลื่อนโดยโครงการตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP อันเป็นคุณค่าและข้อดีของความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความโดดเด่นมากขึ้น
ประมวลโดย พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.cciserv.com/content/2022-07/18/content_10385277.htm และเว็บไซต์ https://gd.sina.cn/city/csgz/2022-07-12/city-imizirav3043516.d.html?oid=4103024740063316&vt=4&cid=167521&node_id=167521 )