จีนศึกษา๔๓ แนวทางของจีนในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำโลกด้าน AI (Artificial Intelligence) ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓)
๑. รัฐบาลจีนมีแผนยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนประเทศจากยุคของอุตสาหกรรมโรงงาน ไปสู่ยุคของการสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์นั้น จึงต้องมีแผนพัฒนาประเทศด้วยการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและในระบบการศึกษาทั้งหมด โดยแผนในระระยาวคือมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำระดับโลกด้าน AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ภายในปี ๒๐๓๐ (พ.ศ.๒๕๗๓) โดยเฉพาะ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ได้เน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างนวัตกรรมเหนือสิ่งอื่นใด จนทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในจีนได้ออกมาขานรับอย่างประสานสอดคล้องรองรับกัน
๒. แนวทางในการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ อาทิ
๒.๑ การปรับปรุงด้านหลักสูตรการศึกษาในการเขียนโปรแกรม แม้ว่าจีนยังไม่ได้บรรจุให้การเขียนโปรแกรมเป็นหลักสูตรบังคับในระดับชาติ แต่พ่อแม่ต่างมองหาโรงเรียนเอกชนหรือค่ายอบรมการเขียนโปรแกรมให้ลูกได้เรียน ซึ่งธุรกิจการศึกษาเหล่านี้ต่างผุดขึ้นมากมายทั่วประเทศ นอกจากนั้น ยังมีเว็บไซต์มากมายที่นำเสนอข้อมูลฟรีและคอร์สสอนโปรแกรมให้กับคนทุกวัย
๒.๒ กระทรวงศึกษาธิการจีนและคณะกรรมการการศึกษาแห่งกรุงปักกิ่ง เปิดเผยข้อมูลว่า มีโรงเรียนประถมและมัธยมต้นกว่า ๒๐๐ แห่ง ที่มีหลักสูตรการเขียนโปรแกรมสอนในโรงเรียน รวมทั้งมีหลักสูตรเสริมพิเศษและชุมชนที่ส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้เข้าร่วมมากมายโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการฯ กล่าวว่า การเขียนโปรแกรมเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นแต่เด็กต้องไปได้ไกลกว่านั้น โดยเฉพาะการคาดหวังให้นักเรียนสามารถประยุกต์ทักษะในการเขียนโปรแกรมไปสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ และมีพัฒนาการในการสร้างกรอบความคิดที่สามารถแก้ปัญหาได้
๒.๓ มีข้อมูลว่า บริษัทที่ทำธุรกิจการศึกษาหลายแห่ง ได้เปิดคอร์สสอนเขียนโปรแกรมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่พุ่งสูงขึ้น เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจด้านการศึกษาชื่อโค้ดเหมา (Codemao) ได้เปิดคอร์สออนไลน์เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม สำหรับเด็กอายุ ๖ – ๑๖ ปีโดยผู้ก่อตั้งมีความเชื่อว่าธุรกิจการศึกษานี้จะขยายตัวมากกว่าการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้นทั้งนี้ การเรียนภาษาอังกฤษเติบโตเพราะเป็นภาษาสากลที่ผู้คนจำเป็นต้องสื่อสารกัน แต่ทุกวันนี้AI ต่างหากที่กำลังคืบคลานเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คน การเขียนโปรแกรม คือภาษาที่ต้องใช้รับมือกับ AI
บทสรุป การที่จีนเล็งเห็นถึงความสำคัญของ AI โดยนับตั้งแต่ปี ๒๐๑๗ (พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นต้นมาที่มณฑลเจ้อเจียงได้กำหนดให้วิชาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นวิชาที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย และการเขียนโปรแกรมเป็นทักษะสำคัญของสายวิชานี้ ส่วนในกรุงปักกิ่งและมหานครเซี่ยงไฮ้ เด็กที่มีความสามารถด้านการเขียนโปรแกรม จะมีโอกาสในการเข้าโรงเรียนมัธยมดีๆ จึงทำให้พ่อแม่จำนวนมากในจีน มีทัศนคติที่เปิดกว้างกว่าคนรุ่นก่อน ทำให้เด็กๆ ชาวจีนมีโอกาสเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุน้อยๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ส่วนเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจีนเปิดไฟเขียวให้เยาวชนจีนฝึกฝนทักษะในเรื่องนี้ เป็นเพราะเทคโนโลยีในจีนอยู่ในยุครุ่งโรจน์ นอกจากนี้ ในปัจจุบันจีนได้พัฒนาศักยภาพในสาย Supercomputer ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง ส่งผลทำให้ต้องการคนที่มีทักษะระดับสูง เพื่อสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลจีนก็ต้องการให้คนรุ่นใหม่มีทักษะด้านการเขียนโปรแกรม เพราะเป็นทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะในยุคที่ AI และวิทยาการหุ่นยนต์ จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจจีนดังนั้น รัฐบาลจีนได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ อันเป็นที่มาของปรับปรุงระบบการศึกษาในเรื่อง AI เพื่อก้าวสู่ระดับสูงสุดของโลก
ประมวลโดย พลตรี ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://syncedreview.com/2018/04/12/china-prepares-for-ai-talent-shortage/ รวมทั้งเว็บไซต์ http://www.china.org.cn/opinion/2019-01/08/content_74352493.htm และเว็บไซต์https://news.cgtn.com/news/3d3d774d35556a4d77457a6333566d54/share_p.html ตลอดจนเว็บไซต์ https://cacm.acm.org/magazines/2018/11/232209-the-future-of-artificial-intelligence-in-china/fulltext )