ไม่ได้จัดหมวดหมู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.สนาม มธ.โพสต์ผ่านเพจเฟสบุ๊กระบุ ประกาศปิดรพ.สนามธรรมศาสตร์ ในวันที่ 22 ตุลาคม

14 ตุลาคม วันสำคัญอีกวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยวันที่ 192 ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ วันที่ 130 ของศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์รังสิตและวันที่ 108 ของศูนย์ธรรมศาสตร์ Home Isolation

   ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั่วประเทศในวันนี้มีจำนวน 11,276 คนและเสียชีวิต 112 คน ค่าเฉลี่ยของผู้ป่วยใหม่ตลอดสัปดาห์ยังคงเป็นหมื่นเศษเช่นเดิม และค่าเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตก็ยังคงตำ่กว่าร้อยคนถ้าดูภาพรวมอาจจะสรุปได้ว่า สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ดีขึ้น แต่ก็ไม่แย่ลง  แต่ที่ต้องเพิ่มเติมคือ ในจังหวัดภาคใต้ปลายด้ามขวานสี่ห้าจังหวัด และอีกสามสี่จังหวัดทางตะวันออก มีการพบ Cluster ใหม่ เยอะมาก  และพบการระบาดในชุมชนอย่างกว้างขวาง จนน่าวิตกว่า ระบบสาธารณสุขในพื้นที่จะยังคงรับได้ไหวหรือไม่ และควรจะต้องมีการเสริมกำลังจากสธ.ไปยังพื้นที่เซนซิทีฟเหล่านี้โดยด่วนหรือยัง ขณะที่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างชัดเจน เหตุผลที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่แล้ว อีกทั้งคนในกทม.และปริมณฑลซึ่งได้เผชิญกับสถานการณ์ระบาดร้ายแรงมานาน  ได้ป้องกันตัวเองอย่างระมัดระวังเต็มที่ และมีทักษะกับมีความตระหนักถึงเรื่องมาตรการป้องกันตนเองได้ดีกว่าพื้นที่อื่น ของประเทศ

    เข้าใจว่าตอนนี้ไวรัสโควิดสายพันธ์ Delta กำลังเปลี่ยนยุทธวิธีโจมตีพวกเราในรูปแบบใหม่ หันไปใช้ยุทธวิธีป่าล้อมเมืองในการโอบล้อมโจมตีพวกเราจากพื้นที่โดยรอบเข้ามาหาตรงกลางแล้วล่ะ

      สถานการณ์ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์วันนี้ยืนยันปรากฏการณ์ของกลุ่มกทม.และปริมณฑลที่ยังคงอยู่ในภาวะขาลงของเวฟ 4 นี้อยู่ เช้าวันนี้เรามีผู้ป่วยผลบวกจากSwab RT-PCR อีก 10 ราย มีผู้ป่วยโควิดรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เพียง 34 เตียง แต่ที่น่าเสียใจคือ เมื่อคืนนี้ เรามีผู้ป่วยโควิดสีแดงเข้มอายุมากเสียชีวิตไปอีกหนึ่งคน ขณะนี้ เรามีผู้ป่วยวิกฤตสีแดงเหลืออยู่เพียง 7 ราย และไม่มีผู้ป่วยแดงเข้มระดับใส่ Tube เหลืออยู่อีกเลย

µ

     สำหรับรพ.สนามธรรมศาสตร์ ซึ่งเราไม่ได้รับผู้ป่วยเพิ่มอีกมาได้สักสัปดาห์นึงแล้ว ผู้ป่วยโควิดที่เราดูแลอยู่ที่นี่เหลืออีกเพียง38 ราย แผนของพวกเราคือ เราจะสามารถDischarge ผู้ป่วยโควิดรายสุดท้ายได้ในวันประกาศปิดรพ.สนามธรรมศาสตร์ ในวันที่22 ตุลาคม นี้

            สำหรับ Home Isolation   ของเรา เช้านี้มีผู้ป่วยแอคทีฟที่ยังคงต้องดูแลอีก 59 ราย สองสามวันนี้เรารับ Admid   ผู้ป่วยใหม่เข้ามาในโครงการได้วันละหลายคนแต่จำนวนก็ค่อนข้างคงที่นะ

          ที่ศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ที่ยิม 4 ของเรา เมือวานนี้ สามารถให้วัคซีนไปได้1,736 เข็ม จากจำนวนคิวที่จองทั้งเข็มสองและเข็มแรกจำนวน 3,128 คน คิดเป็น 55.5% เท่านั้นเมื่อวานนี้เราได้รับวัคซีนเข็มที่สองสำหรับใช้ฉีดช่วง 11-17 ตุลาคมมาเพิ่มจากทางสสจ.อีก 439 ขวด หรือเท่ากับประมาณ 5,200 โดส ทำให้เราจะสามารถรับประกันการมีวัคซีนฉีดให้แก่ผู้คนที่อยู่ในบัญชีจองคิวของเราไปได้จนถึงวันที่ 18 ตุลาคมแน่นอนแล้ว ขอแสดงความยินดีกับท่านที่มีคิวนัดที่ยิม 4 จนถึงวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมด้วยนะ

   นับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่มีการประกาศข้อบังคับมธ.ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบแล้วในราชกิจจานุเบกษา พวกเราได้ดำเนินการในเรื่องการจัดหายาวัคซีนและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยโควิดในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในระหว่างระยะเวลาแปดสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างขะมักเขม้นในหลายๆกรณี และขอใช้โอกาสนี้ สรุปคร่าว ๆว่า พวกเราได้ช่วยทำอะไรที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน เพื่อจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและของระบบสาธารณสุข  ในการช่วยกันรับมือกับโควิด-19ไปแล้วบ้าง โดยจะนำเฉพาะที่ควรจะบอกเล่าให้ทราบโดยทั่วไปได้ มาสรุปเป็นกรณี ดังต่อไปนี้

(1)เมื่อต้นเดือนกันยายน เราได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในการจัดหาและนำเข้าวัคซีน   Moderna จำนวนสองล้านโดสมาในประเทศในนามมธ.โดยเอกชนรายนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อนำวัคซีนมากระจายฉีดแก่ประชาชนโดยผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชน โดย มธ.จะขอรับบริจาค Moderna ในจำนวนหนึ่งแสนโดสจากจำนวนทั้งหมด มาเพื่อใช้ฉีดให้กับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆจากการฉีดวัคซีนในส่วนของ มธ.นี้

(2)ปลายเดือนกันยายน เราได้ลงนามความร่วมมือกับสถานพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าวัคซีน mRNA (Moderna และ Pfizer )จำนวนห้าล้านโดส เข้ามาในประเทศในนามมธ.โดยเอกชนรายนี้จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเพื่อกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผ่านระบบโรงพยาบาลเอกชนต่าง โดยรพ.ธรรมศาสตร์ก็ยังคงจะได้รับบริจาควัคซีนอีกหลายแสนโดสจากจำนวนนี้ มาเพื่อกระจายฉีดให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ หากสามารถนำวัคซีนเข้ามาได้สำเร็จ

(3)ต้นเดือนตุลาคม มธ.ได้ติดต่อกับสถาบันวัคซีนของประเทศในยุโรปตะวันออกประเทศหนึ่ง โดยการประสานของภาคเอกชน ด้วยการช่วยอำนวยความสะดวกของสถานทูตไทย เพื่อจะขอรับวัคซีน Moderna ในลักษณะการบริจาคให้มธ.จำนวนสามล้านโดส แต่เราจะต้องรับผิดชอบการขนส่ง โลจิสติคส์ การดูแลควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านยูโร และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานและเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่

   ทั้งสามกรณีนี้  โดยที่เราตระหนักถึงความเร่งด่วนจำเป็นของการมีวัคซีนทางเลือกเข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงได้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการของความตกลงจัดหาวัคซีนทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ตุลาคม 64 นี้ทั้งหมด    แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าแม้มีความตกลง และมีผู้รับผิดชอบไปดำเนินการติดต่อประสานงานชัดเจนแล้ว เราจะได้รับวัคซีนเข้ามาตามนี้อย่างแน่นอนหรอกนะ  เพราะการจัดหาวัคซีนเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นเรื่องลำบากแสนเข็ญ ถ้าหากทำได้ง่ายๆจริง ประเทศของเราคงไม่ประสบกับภาวะการขาดแคลนวัคซีนอยู่เช่นนี้หรอก  แต่พวกเราเพียงหวังว่า ถ้าความพยายามนี้ของพวกเรา พอจะมีสัมฤทธิ์ผลได้บ้าง แม้เพียงบางส่วน เราก็จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศและสามารถช่วยเหลือผู้คนร่วมสังคมได้บ้างตามกำลังของพวกเราเท่านั้น

     (4) ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เราได้ติดต่อเจรจากับตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของยุโรปตะวันตก ซึ่งกำลังดำเนินการวิจัย ค้นคว้าทดลองและผลิตวัคซีนProtein base ชนิดใหม่ (ที่ไม่ใช่ Novavax  )

  ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 และคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอนามัยโลกได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยธรรมศาสตร์ตกลงจะเข้าร่วมการวิจัยทดลองวัคซีนใน Phase ที่ 3 นี้ด้วย และหากสามารถขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดนี้ได้สำเร็จ  เราก็จะร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยแห่งหนึ่ง  ในการจะนำเข้าวัคซีน Protein base ชนิดนี้ เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุดและอย่างกว้างขวางที่สุด ในฐานะที่เป็นวัคซีนทางเลือก  เพื่อจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามสำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในต้นปีหน้า

  (5) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้ทำความตกลงร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยา Generic name ของ Molnupilavir ในประเทศอินเดีย เพื่อร่วมการทดลองประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโควิด ในระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมและจะทำ  Clinical Trial เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดนี้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยเราเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในวิจัยทางคลินิกทั้งหมดที่เกิดขึ้น  ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการการวิจัยต่อคณะกรรมการจริยธรรมทางการวิจัย และกำลังรอรับการจัดส่งยาที่จะใช้ในโครงการนี้มายังประเทศไทย  โดยเราได้ทำความตกลงเบื้องต้นแล้วที่จะสั่งยาชนิดนี้อีกจำนวน 200,000 เม็ดเพื่อจะนำมาใช้กับผู้ป่วยของเราทันทีที่ FDA ให้การรับรองยาชนิดนี้เป็นที่เรียบร้อย และได้ผ่านการอนุมัติจาก อย. ของเราเรียบร้อยแล้ว

   ทั้งห้ากรณีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของธรรมศาสตร์ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมธ.ที่ได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา   ที่พวกเราอยากจะรายงานให้สังคมไทยได้ทราบ       ภายใต้วัตถุประสงค์ประการเดียวของเรา ที่จะทำให้สังคมและผู้คนชาวไทยมีโอกาสและมีทางรอดจากการคุกคามของโควิด-19 ให้ดีที่สุดและมากที่สุด

  โดยไม่ได้สนใจว่า ภารกิจเหล่านี้มีจะหน่วยงานภาครัฐหน่วยใดดูแลรับผิดชอบดำเนินการอยู่ตามกฎหมายอยู่แล้วหรือไม่ เพราะพวกเราเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า พวกเรามีหน้าที่ที่จะต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด และเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่จะต้องคิดเอาเองว่าหน้าที่ที่แท้จริงของพวกเราคืออะไร  ในสถานการณ์ที่ประเทศและประชาชนถูกคุกคามจากวิกฤติร้ายแรงของโควิด-19 อยู่เช่นนี้

รักเธอนะ ประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า