บทแนะนำหนังสือ “สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม พ.ศ. 2223 – 2450
พ.ศ. 2223 – 2450
(ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม)”
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ขอแนะนำหนังสือแปลเล่มใหม่ล่าสุด เรื่อง “สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม พ.ศ. 2223 – 2450 (ฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม) ตีพิมพ์ครั้งแรก
พ.ศ. 2544 ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสเขียนโดยร้อยเอกอ็องรี โซฟ (Capitaine Henri SEAUVE) อดีตสมาชิก
ในคณะสำรวจปาวี ที่เดินทางเข้ามาสำรวจทำแผนที่และติดตามสถานการณ์ดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศสในอินโดจีนซึ่งนำโดย เมอสิเยอร์ ออกุสต์ ปาวี (Auguste Pavie) อดีตกงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งเป็น 3 ภาค ดังนี้
1. สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์และขยายเครือข่ายทางการค้าเข้ามายังสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทั้งสองชาติต่างส่งราชทูตเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างกัน
2. สมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศครั้งใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยสยามได้ส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ พระราชวังฟงแตนโบล
3. สมัยสาธารณรัฐที่ 3 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคจักรวรรดินิยม โดยทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสต่างแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมตามประเทศต่าง ๆ ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาติไทย
ซึ่งชาติไทยสามารถรักษาเอกราชเหนือดินแดนส่วนใหญ่ไว้ได้ แม้จะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม
โดยมีเหตุการณ์สำคัญคือการเข้ามาสำรวจพื้นที่อินโดจีนของคณะสำรวจปาวี และวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
ซึ่งฝรั่งเศสได้นำเรือรบมาจอดที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนเกิดการต่อสู้กัน ท้ายที่สุด สยามจำต้องลงนาม
ในสนธิสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส
4. ภาคผนวก ได้รวบรวมสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศสที่เกี่ยวกับเขตแดน เช่น
– หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ร.ศ. 112 ร.ศ. 122
– สัญญาน้อย บันทึกวาจา ตลอดจนสัญญาว่าด้วยอำนาจศาลในกรุงสยามที่ทั้งสองฝ่าย
ได้ลงชื่อแล้วประทับตราไว้เป็นสำคัญ
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานะของไทยในบริบทต่าง ๆ นอกจากนี้
ยังมีภาพประกอบและแผนที่อันทรงคุณค่าจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
ผู้สนใจหนังสือเล่มนี้สามารถหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร หรือ bookshop.finearts.go.th