ศาสนา-ศิลปวัฒนธรรม

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980ร่วม ม.อุบลฯ ร่วมพิธีเปิดปฐมวิปัสสนาธรรมสถาน บูชาบูรพาจารย์ สู่อุบลเมืองกัมมัฏฐานโลก

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2568 เวลา 13.30 น. ณ วัดภูหล่น ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยอาจารย์บุคลากร นักศึกษา ชมรมพุทธธรรมกรรมฐาน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม และนิทรรศการ “เปิดปฐมวิปัสสนาธรรมสถาน บูชาบูรพาจารย์สู่อุบลเมืองกัมมัฏฐานโลก” จัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับมูลนิธิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 150 ปี ชาตกาล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงหลักธรรมคำสอน และเป็นโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาชีวประวัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ถวายเป็นอาจริยบูชา 155 ปี ชาตกาล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยมี นายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธี
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังได้ร่วมจัดเสวนาธรรม “ประกาศอุบลเมืองกัมมัฏฐานโลก” โดย นายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ประธานสภาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดอุบลราชธานี ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 นายสมชาติ พงคพนาไกร ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 และ ประธานกรรมการ มูลนิธิหลวงปู่มั่น ฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยณัฐ สร้อยคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมการเสวนา โดยมีแขกผู้มีเกียรติ ศิษยานุศิษย์ ภาครัฐแเละเอกชน ร่วมในกิจกรรมดังกล่าว

ด้าน นายสุภชัย เผยว่าสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกด้วยการดำเนินกิจกรรมที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือโครงการธรรมยาตรา ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ เสด็จมายังประเทศไทย ตามปกติ รัฐบาลอินเดียไม่เคยอนุญาตให้ประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุในภาคอื่นนอกจากสนามหลวงเพียงเท่านั้น แต่ครั้งนี้ เพื่อการเฉลิมฉลองพระชนมายุ 72 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชการที่ 10 รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้นำพระบรมสารีริกขธาตุและพระอรหันตธาตุไปประดิษฐานยังภาคต่าง ๆ ของไทยได้ คือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ในภาคเหนือ จังหวัดอุบลราชธานีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดกระบี่ในภาคใต้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ข้างต้น ที่อุบลราชธานีมีศาสนิกชนให้ความสำคัญมาสักการะถึง 4.7 แสนคน ดังนั้น อุบลราชธานีจึงมีศักยภาพที่จะได้รับการส่งเสริมขึ้นเป็นเมืองกัมมัฏฐานโลก ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. อุบลราชธานีเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ เป็นถิ่นกำเนิดพระอริยสงฆ์รูปสำคัญ ๆ ของประเทศไทย อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ชา สุภัทโท ฯลฯ นอกจากนี้ อุบลราชธานีมีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งสามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งนับถือพุทธศาสนาอยู่ด้วย
2. ชื่อจังหวัด คำว่า “อุบลราชธานี” มีนัยยะสำคัญทางธรรมะและพุทธศาสนา กล่าวคือ อุบล หมายถึง ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา (ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ พระองค์เดินบนดอกบัว 7 ดอก) ส่วนคำ “ราชธานี” มีความหมายว่าเมืองหลวง ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในไทยที่ใช้คำ “ราชธานี” ในที่นี้ อุบลราชธานีนับว่าเป็นเมืองหลวงแห่งธรรมะ
3. อุบลราชธานีเป็นเมืองแห่งแสงแรก ผาชนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อำเภอโขงเจียม เป็นสถานที่แรกของประเทศไทยที่มองเห็นพระอาทิตย์ฉายแสงขึ้น โดยแสงนี้เปรียบเสมือนแสงแห่งปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีแห่เทียนพรรษาอันยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนให้คนเห็นความสำคัญของปัญญา การจุดเทียนธรรมจึงเกิดขึ้นที่อุบลราชธานีเมื่อ มิถุนายนที่ผ่านมา
ด้วยเหตุผลสำคัญข้างต้นนี้ จึงเห็นควรให้ประกาศอุบลราชธานีเป็นเมืองกัมมัฏฐานโลก

นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ประธานสภาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดอุบลราชธานี และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธนี กล่าวว่า เหตุผลที่ตนเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนประเด็นนี้ เนื่องจากมองเห็นอนาคตของอุบลราชธานีในฐานะ “เมืองธรรม เมืองแสงแรก” สิ่งที่ตั้งใจจดำเนินงานต่อไป คือการสร้างเมืองแห่งชีวิต คือการพัฒนาคนให้เป็นคนดีและมีหัวใจเป็นนักปราชญ์ เพราะมีหลวงปู่เสาร์กับหลวงปู่มั่นเป็นต้นธรรมแห่งชีวิต
แนวทางการปฏิบัติในฐานะที่เป็นผู้เกี่ยวข้อง 1) ควรจะนำประเด็นซอฟต์พาวเวอร์ เข้ามายกวัฒนธรรมของมนุษย์ คือทำให้ประชาชนเป็นผู้ที่อิ่มหรือเป็นผู้เจริญปัญญาเหมือนกันทุกคน 2) ต้องสร้างความสมบูรณ์ อุบลราชธานีนั้นมีความเหมาะสมเพราะเป็นเมืองแห่งนักปราชญ์ มีพระสมเด็จที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังต้องการจะยกภูหล่นให้เป็นที่รู้จัก เพราะจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติของพระหลาย ๆ รูปอยู่ที่ป่า ที่นี่สามารถต่อเนื่องจากทำธรรมยาตราได้ อีกทั้งการส่งต่อหลักธรรมคำสอนผู้ส่งก็ต้องปฏิบัติด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ริเริ่มคือหลวงปู่มั่น ต้องเริ่มจากตรงนี้จึงจะเกิดซอฟต์พาวเวอร์ และสามารถสร้างคนที่มีธรรมในหัวใจขึ้นมาได้
ในส่วนของภาครัฐ ควรผลักดันสินค้าทางวัฒนธรรม คือ เน้นนำเสนอวิถีชีวิตและผู้คน ภาครัฐทุกหน่วยงานต้องช่วยกันคิดพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้อุบลราชธานีเป็นเมืองกัมมัฏฐานโลกที่ยั่งยืนต่อไป เน้นที่การสร้างและดูแลป่า ธรรมชาติ และการรักษาเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ บทสรุปท้ายสุดที่เน้นย้ำคือ การสร้างให้อุบลราชธานีเป็นเมืองกัมมัฏฐานโลกมีความเป็นไปได้ หากภาครัฐทุกภาคส่วนสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังเสนอคำถามชวนช่วยกันขบคิดต่อว่าเมืองกัมมัฏฐานโลกมีกี่ที่ทำเช่นนี้ รวมไปถึงการเติบโตทำให้เป็นที่รู้จักต้องทำอย่างไรบ้าง เบื้อต้นเห็ฯว่าต้องพัฒนา สร้างคนให้มีเสน่ห์ใหม่ ยกให้อุบลราชธานีเป็นเมืองแห่งธรรม ผู้คนได้รับประโยชน์ มีความสุข และมีปัญญาในทุกจังหวะชีวิต เมืองกัมมัฐฐานจะสามารถเชื่อมโยงองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งเกี่ยวกับป่าและธรรมชาติ การยกระดับบุคคล การสร้าง “บุคคลแห่งการเสริมสร้างกัมมัฏฐาน” และธุรกิจด้านต่าง ๆ อีกด้วย

นายภพ ภูสมปอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวว่า ประการแรก เราควรทำให้อุบลราชธานีสงบสุข ประเด็ฯหลัก คือการบังคับกฎหมายให้เข้มแข็งและปลอดภัยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เน้นไปที่ความปลอดภัย ต่อมาการปลูกสร้างพื้นฐานที่ว่า “สะดวก สว่าง และปลอดภัย” ในทางการปฏิบัติก็จะยกวัดภูหล่นเป็นที่เริ่มแรก (ปฐม) และสุดท้ายนโนบายที่สำคัญอย่างซอฟพาวเวอร์ จะพัฒนาที่โครงสร้างของวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ศิลปวัฒนธรรม และอาหารการกิน ยกขึ้นมาเป็นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมในการปฏิบัติต่อไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการส่งเสริม และใช้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจุดศูนย์กลางสำคัญของเมืองกัมมัฏฐานโลก เพราะอุบลราชธานีนั้นมีวัดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีวัดสำคัญ ๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น วัดบูรพา ก็มีพระสงฆ์ที่มีความสามารถในด้านนี้โดยเฉพาะจึงมีความเป็นไปได้ ต่อมาในส่วนของหน่วยงานหลัก ๆ ประกอบด้วย หน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักพุทธศาสนา ในส่วนของบทสรุปสุดท้ายท่านยังได้ฝากถึงหน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัด ให้เข้าร่วมและผลักดันชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการต่อไป ร่วมทั้งการขับเคลื่อนที่สำคัญ การประสานงาน ซึ่งหัวใจหลักนั้นคือผู้คนทุกคน เพื่อทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนจากที่นี่ซึ่งเป็นจังหวัดแรกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้นโยบายและแนวทางก็เพื่อความสัมฤทธิ์ผลในส่วนนี้
กล่าวโดยสรุป ในอนาคตอุบลราชธานีจะเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาค ตนเห็นว่ามีความเหมาะสม เริ่มมองเห็นการเดินทางมาของผู้คนมาที่จังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งเรื่องของความปลอดภัยของผู้คนที่จะมาที่แห่งนี้ก็สำคัญ ตนจะพยายามพัฒนาประเด็นที่เกี่ยวข้องให้ดีที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า