ปิดโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 4 ด้วยความสำเร็จด้านศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คณะธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 ได้สิ้นสุดโครงการแล้ว ด้วยความสำเร็จในการเดินหน้า “ประกาศศตวรรษแห่งธรรม” “Dhamma Century”เตรียมฝัง”ไทม์ แคปซูล“ หรือ”แคปซูลแห่งกาลเวลา“ ทั้งที่ อินเดียและไทย รวมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการพัฒนามรดกทางพุทธศาสนา
”คณะธรรมยาตราครั้งที่ 4“ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ เข้ากราบสักการะ ”เถ้าอัฐิ“ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัย ของพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและประวัติศาสตร์โบราณ มหาวิทยาลัย Maharaja Sayajirao University of Baroda (MSU) ”เถ้าอัฐิ“ของพระพุทธเจ้าที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดี “Dev Ni Mori”นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ รูปปั้นดินเผาของพระพุทธเจ้า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ และวิจัยเกี่ยวกับโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐคุชราต
ก่อนหน้านั้นคณะธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 นำโดย ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ ได้เข้าพบกับ ผู้ว่าการรัฐคุชราต Bhupendra Patel เพื่อสรุปการดำเนินโครงการธรรมยาตราทั้ง 4 ครั้ง ตั้งแต่โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ในปี 2017 และปี 2019 ส่วนธรรมยาตรา ครั้งที่ 3 อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ มหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีประชาชนเข้ากราบสักการะมากเกือบ 5 ล้านคน โดยเฉพาะการประดิษฐานชั่วคราว ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีความแตกต่างทางศาสนา ทั้งชาวพุทธและมุสลิม ต่างพร้อมใจเดินทางเข้ากราบสักการะอย่างเนืองแน่น
เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ยังกล่าวย้ำถึงความสำเร็จของโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 ว่าได้เข้าพบกับ 2 รัฐมนตรีที่ดูแลด้านศาสนาและวัฒนธรรมของอินเดีย และทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่ายของอินเดีย เช่น VIF,ICCS,IBC นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงการเชื่อมความสัมพันธ์ระดับประชาชนกับประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จากสองประเทศ ใช้ “Influencer”จากไทย และอินเดีย โดยใช้กีฬา“ฟุตบอล” เชื่อมประสานความสัมพันธ์
ในทุกครั้งที่มีโอกาสพบบุคคลสำคัญของอินเดีย เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จะย้ำการทำงานเพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ใช้หลักธรรมวิชัย หรือชนะโดยธรรมในการปกครอง
ในช่วงท้ายมีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการส่งเสริมและพัฒนามรดกทางพุทธศาสนาทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ของรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ประเทศไทย และภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
มรดกทางพุทธศาสนาที่จับต้องได้เช่น โบราณสถาน : สถูป วัดโบราณ พระพุทธรูป ต้นฉบับพระไตรปิฎก , มรดกทางพุทธศาสนาที่จับต้องไม่ได้เช่น แนวความคิดที่สืบทอดทางจิตวิญญาณ เช่น หลักธรรม คำสอน :อริยสัจ 4 มรรคมีองค์ 8 ,พิธีกรรมและประเพณี : การทำสมาธิ
มีรายละเอียด อาทิ ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมและพัฒนามรดกทางพุทธศาสนา ในรัฐคุชราต ,ความร่วมมือในการส่งเสริมโครงการก่อสร้างและพัฒนา “Dev Ni Mori “ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการริเริ่มของ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี
เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 แสดงความมั่นใจว่า จากการจัดโครงการธรรมยาตรา ทั้ง 4 ครั้ง และการทำงานตลอด 18 ปีของสถาบัน จะทำให้”ธรรมะ“กลับคืนสู่ดินแดนพุทธภูมิและดินแดนสุวรรณภูมิ และอยากเห็น”ผู้นำใช้ธรรมะเป็นอำนาจ“”ไม่ใช้อำนาจเป็นธรรม“ช่วยยกระดับจิตเข้าสู่ความเป็นอริยบุคคล
สำหรับโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองสาญจี ในวันที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อร่วมพิธีอัญเชิญพระอรหันตธาตุของพระอัครสาวก ในประชาชนเข้ากราบสักการะ ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน เพียง 1วัน ในรอบ 1 ปี
จากนั้นได้เข้าสู่ธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการ ที่”เมืองปัฏนะ“เมืองหลวงในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ส่งพระธรรมทูต 9 สาย ออกเผยแผ่พุทธศาสนา จากนั้นมุ่งหน้าสู่”พุทธคยา“เพื่อ”ประกาศศตวรรษแห่งธรรม“ในดินแดนแห่งการตรัสรู้ ก่อนเดินทางสู่”กรุงนิวเดลลี“เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย อินเดีย นำโดยภาคีเครือข่าย กว่า 15 องค์กร และพบ 2 รัฐมนตรีที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลอินเดีย ปิดท้ายด้วยการเยือน”รัฐคุชราต“ที่มีความสำคัญด้านพุทธศาสนา และเป็นบ้านเกิดของ”นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี“ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จุดที่จะเป็นสถานที่ฝัง “ไทม์ แคปซูล”หรือ “แคปซูลแห่งกาลเวลา”โดยจะมีการเปิดในอีก 234 ปี ข้างหน้า ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญในการใช้“ธรรมะ”เชื่อม”เอเชียใต้“และ”เอเชียตะวันออกเฉียงใต้“