ธรรมยุทธวิธี” หัวใจของการประกาศศตวรรษแห่งธรรม
หัวใจสำคัญของการประกาศศตวรรษแห่งธรรม คือหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเชื่อมโยงทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นไปตามสาส์นของเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ที่บรรจุในไทม์แคปซูล และจะถูกเปิดในปี พ.ศ.2801
ในการประกาศศตวรรษแห่งธรรม ของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย ตามโครงการธรรมยาตรา ครั้งที่ 4 ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา ประกาศศตวรรษแห่งธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ซึ่งเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ในปี 2558 ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย คือศตวรรษแห่งเอเชีย ที่จะใช้พุทธศาสนาเชื่อมโยงทุกศาสนา ปรัชญา และวัฒนธรรมทั่วโลก
ศตวรรษแห่งธรรมยังมีนัยยะถึงธรรมวิชัยหรือชัยชนะแห่งธรรมที่มีรากฐานมาจากคุณูปการของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงเปลี่ยนจากการเป็นผู้พิชิตมาเป็นผู้นำแห่งสันติภาพด้วยธรรมะ และทำให้คำสอนแห่งพุทธศาสนาเผยแพร่ไปทั่วเอเชีย
เหตุผลอีกประการของการสร้างศตวรรษแห่งธรรมมาจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทั้งความขัดแย้งทางอาวุธ ความขัดแย้งทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความแตกแยกในสังคม ยังทวีความรุนแรงขึ้นและคุกคามมวลมนุษยชาติ เพื่อให้วิสัยทัศน์แห่งศตวรรษแห่งธรรมเป็นจริง สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จึงเสนอแนวทางธรรมยุทธวิธีซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ
-การปฏิบัติสมาธิ สมาธิเป็นรากฐานของการมีสติ ตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง
-การพัฒนาปัญญา ผ่านการศึกษาไตร่ตรอง และทำความเข้าใจในหลักธรรมคำสอน
-การปฏิบัติตามแนวทางมรรคมีองค์ 8 ครอบคลุมทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางนำไปสู่ความหลุดพ้น
Mrs. Wangmo Dixey ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดงานสาธยายพระไตรปิฎก ณ มหาเจดีย์พุทธคยา กล่าวว่า เธอเดินทางมาจากสาธารณรัฐอเมริกาและเดินทางไปอีกหลายประเทศ อาทิ ลาว ไทย เมียนมา ศรีลังกา ได้พบพระภิกษุสงฆ์ ทำให้ได้เรียนรู้ธรรมะ และรู้สึกถึงความเชื่อมโยงของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประกาศศตวรรษแห่งธรรมของ ดร.สุภชัย คือการนำหลักธรรมกลับคืนสู่อินเดีย ท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแต่กลับเกิดสิ่งคู่ขนานระหว่างความขัดแย้งทั้งระดับรัฐและระดับประเทศ จึงถึงเวลาของศตวรรษแห่งธรรม
Dr. Shashibala ประธานศูนย์นานาชาติ วัฒนธรรมศึกษาอินเดีย หรือ ICCS ยังย้ำว่า ศตวรรษแห่งธรรมเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี้ ที่ต้องการใช้พุทธศาสนาเชื่อมโยงทวีปเอเชียเข้าด้วยกัน ซึ่งเธอเห็นว่าการใช้อำนาจทางทหารหรืออำนาจทางเศรษฐกิจจะต้องถูกแทนที่ด้วย soft power
อีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญคือการนำเสนอไทม์แคปซูล หรือแคปซูลแห่งกาลเวลา บรรจุคำประกาศศตวรรษแห่งธรรมและสาส์นจากเลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ซึ่งมีเนื้อหาใจความสำคัญถึงจุดเริ่มต้นการก่อตั้งสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เพื่อเผยแผ่และปกป้องพระพุทธศาสนา ด้วยนโยบายพุทธพลิกโลก และการจัดธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง 2 ครั้ง และครั้งที่ 3 จากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากอินเดียมาประดิษฐานชั่วคราวใน 4 จังหวัดของประเทศไทย จนปลายปี 2567 เกิดธรรมยาตราครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการต่อยอดแนวคิดศตวรรษแห่งเอเชียสู่ศตวรรษแห่งธรรม ซึ่งแคปซูลแห่งกาลเวลาจะถูกเปิดในอีก 234 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ. 280
นอกจากสถาบันคลังปัญญาหรือ Think Tank ของอินเดียที่มีส่วนในหน้าประวัติศาสตร์ของการประกาศศตวรรษแห่งธรรม ยังมีผู้บริหารของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ พระพรหมวชิรนายก ,พระเมธีวรญาณ ,นายอภัย จันทนจุลกะ,นางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์,นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล,นายเกษม มูลจันทร์ ,นายสุรพล มณีพงษ์,นายวรศักดิ์ ประยูรสุข และนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
#ธรรมยาตราครั้งที่4 #ประกาศศตวรรษแห่งธรรม
#ลุ่มน้ำโขงสู่มหานทีคงคา