ศาสนา-ศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระสังฆราชประทานสาส์นในการประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลก ครั้งที่ ๖

วันนี้ (๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๗) ที่เมืองนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน การประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลกครั้งที่ ๖ ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยมีประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการพระพุทธศาสนาทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก ประมาณ 800 คน จาก 72 ประเทศ เข้าร่วมผู้เข้าร่วม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๗ในหัวข้อ “จับมือกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน” ทั้งนี้ ในการประชุมมีจุดมุ่งหมายที่จะแสวงหาฉันทามติและแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกันในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในการนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระบัญชาโปรดให้ พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นผู้แทนพระองค์และเข้าร่วมในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมประทานสาส์นให้พระพรหมบัณฑิต เชิญไปอ่านในการประชุมดังกล่าว ความว่า
“เนื่องในการประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลกครั้งที่ ๖ ในนามพุทธบริษัทไทย ขอแสดงไมตรีจิตและส่งความ ปรารถนาดีมายังพระเถรานุเถระ และสาธุชนทุกท่านผู้มาประชุมพร้อมเพรียงกัน เพื่อสร้างสรรค์วิถีและวิธีแห่งการ “จับมือกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน” อันเป็นหัวข้อหลักของการประชุมในวาระนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาประทานหลัก “สาราณียธรรม” ไว้เพื่อส่งเสริมความเป็น เอกภาพ ความเคารพซึ่งกันและกัน และความสมัครสมานสามัคคีท่ามกลางความหลากหลายของสรรพชีวิต
มหันตภัยแห่งความแตกแยกบาดหมางในโลกที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ อาจเป็นเครื่องเตือนใจมนุษยชาติ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของสาราณียธรรม ซึ่งประกอบด้วยความเมตตาในกาย วาจา และใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น ความเมตตาโดยจริงใจ ปราศจากมารยาสาไถยดังนี้ ย่อมเกื้อกูลสันติภาพและมิตรภาพอันแท้จริง นำไปสู่การเอื้อเฟื้อ แบ่งปันแก่กันเป็นสาธารณโภคี มุ่งประพฤติดีด้วยกายและวาจาเป็นปรกติเพื่อหลีกเลี่ยงการข่มเหงเบียดเบียน พากเพียร ปรับทัศนคติให้สอดคล้องต้องตรงกันสู่หนทางดับทุกข์ สาราณียธรรมนี้จัดเป็นธรรมะหน่วงรั้งสภาวการณ์โลก อันทรุดโทรมและคลอนแคลน ให้กลับสดใสและเข้มแข็งได้ด้วยเอกภาพ ครอบคลุมทั้งกระบวนการและเป้าหมายอย่างสมบูรณ์


สันติธรรมในพระพุทธศาสนา จึงหาใช่เพียงการไม่วิวาทขัดแย้งกัน หากแต่ยังต้องดำรงมั่นบนความยุติธรรม การุณยธรรม และสติปัญญาอันถูกแท้ตามทางสัมมาทิฐิอีกด้วย หากบุคคลปรารถนาสันติธรรม ย่อมต้องแสวงหา สามัคคีธรรมเป็นบาทฐาน และหากประสงค์จะให้สามัคคีธรรมบังเกิด ก็จำเป็นที่ทุกคนทุกฝ่ายจักต้องเรียนรู้ อบรม และประพฤติสาราณียธรรมเป็นเงื่อนไขตั้งต้นให้ได้ก่อน เพื่อความเข้มแข็งและความผาสุกของส่วนรวมจักปรากฏขึ้น มีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ขอให้การประชุมสมัชชาพุทธศาสนาโลกครั้งที่ ๖ หัวข้อ “จับมือกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน” บรรลุวัตถุประสงค์ อันดีงามที่ตั้งไว้ทุกประการ คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทย ขอร่วมแผ่สาราณียธรรมมาย้ำเตือนมิตรภาพ ของเราทั้งหลายผู้เป็นสมาชิกแห่งพุทธบริษัท และผู้ปรารภปรารถนาความวัฒนาสถาวรของโลกนี้ด้วยสันติธรรมโดยทั่วหน้ากัน”


ด้านพระพรหมวัชรธีราจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มอบหมายให้ พระราชวัชรสารบัณฑิต รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา พร้อมด้วยพระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และผู้บริหารและคณาจารย์ เดินทางเข้าร่วมประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.พศ. พร้อมกับผู้แทนกรมการศาสนา และองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลกเข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุม ประกอบด้วยการสัมมนาหลักและการหารือในหัวข้อต่างๆ เช่น ภูมิปัญญาแห่งความครอบคลุมในพระพุทธศาสนา การนำคัมภีร์พระพุทธศาสนาไปใช้ในรูปแบบดิจิทัล และเสน่ห์ของศิลปะพุทธศาสนา ซึ่งการสัมมนานี้จัดขึ้นทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเจาะลึกถึงแก่นแท้ทางวัฒนธรรม ความหมายทางอุดมการณ์ และคุณค่าร่วมสมัยของพระพุทธศาสนา โดยมีการจัดนิทรรศการ การแสดงดนตรี และพิธีกรรมต่างๆ ไปพร้อมกัน
การประชุมสัมชชาพุทธศาสนาโลกนี้ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2549 และได้มีการจัดต่อเนื่องมาถึง ๕ ครั้ง และครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ ๖ ซึ่งจัดขึ้นที่ เมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเมืองที่มีท่าเรือสำคัญตามแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในฐานะที่เป็นท่าเรือสำคัญแห่งหนึ่งของเส้นทางสายไหม นอกจากนี้ เมืองหนิงปัวยังเป็นประตูสู่การแลกเปลี่ยนระหว่างชาวจีนกับชาวโลกอีกด้วย ประวัติศาสตร์อันยาวนานและความอุดมสมบูรณ์ของเมืองหนิงโปปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรม รวมถึงวัดเก่าแก่หลายศตวรรษ เช่น วัดเซว่โตวซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาเซว่โตว อันเป็นสถานที่จัดการประชุมในครั้งนี้


ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภาพ/ข่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เอง

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า