เตือนโจรภัย ในงานกฐินหลวงและราษฎร์
งานบุญยิ่งใหญ่ตามฤาดูกาล ในช่วงนี้ ไม่มีงานไหนเกินงานทอดกฐิน ซึ่งมีเวลาจำกัดเพียงหนึ่งเดือน นับแต่วันออกพรรษา โดยนับทางจันทรคติ เริ่ม แรม 1ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง)
หากนับตามปฏิทิน ก็เริ่มจากวันที่ 30 ตุลาคม– 27 พฤษจิกายน 2566
ผมไม่อธิบายว่ากฐินหมายถึงอะไร มีอานิสงส์แก่พระสงฆ์ผู้รับกฐินอย่างไร และญาติโยมผู้ทอดกฐินได้รับผลบุญแค่ไหน เพราะมีผู้รู้อธิบายละเอียดในหลายแง่หลายมุมมากแล้ว นอกจากจะบอกว่า กฐินนั้น จัดตามชั้นของวัดคือวัดหลวงและวัดราษฎร์
วัดหลวงสงวนสิทธิ์ให้เป็น กฐินพระราชทาน หรือกฐินหลวง
วัดหลวงนั้นยังแบ่งเป็นชั้นเอกอุ หรือชั้นเอกมีอยู่ 16 วัด เป็นวัดในกทม. 12 วัด ในต่างจังหวัดม 4 วัด
วัดที่ว่านี้ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินีเสด็จ
โดยพระองค์
หรือโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จแทนพระองค์
นอกจากนั้นเป็นพระอารามหลวง ทั่วไปวัดกลุ่มนี้ จะรับกฐินที่พระราชทานแก่องค์กรหรือบุคคลที่ขอพระราชทานไปทอดบำเพ็ญกุศล
และกฐินราษฎร์ เป็นวัดชาวบ้าน ส่วนมากเป็นกฐินสามัคคี ทอดโดยชาวบ้าน
เรื่องโจรภัย ที่จะเล่านี้ เกิดจากงานพระกฐินหลวง ที่วัดราชาธิวาส แขวงวชิรพยาบาลเขตดุสิตกรุงเทพมหานคร
จากการเปิดเผยของ พระธรรมกิตติเมธี (พระ ดร.เกษม ป.ธ.9 Ph.D) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส พระอารามหลวง ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสวางควัฒนา วรขัติยนารี เสด็จแทนพระองค์ ไปยังวัดราชาธิวาสวิหาร พระอารามหลวง ในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายผ้าพระกฐิน
ประจำปี พ.ศ. 2566
ในการนี้ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้คณะบุคคล เข้าเฝ้า ทูลเกล้าถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล และรับพระราชทานของที่ระลึก ซี่งยังความสำนึกในพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เรื่องโจรภัย ปรากฎ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ และทางวัด ดำเนินการออกใบอนุโมทนาบัตร แก่ผู้ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล
ทุกท่านรับใบอนุโมทนา บัตร ด้วยความยินดี
แต่มีสามี ภรรยาคู่หนึ่ง จากจังหวัดกาฬสินธ์ ได้ทักท้วงว่า ทำไมวัดออกอนุโมทนาบัตรไม่ตรงกับจำนวนเงินที่เขาบริจาค
และให้รายละเอียดว่ามีบุคคลผู้หนึ่ง ไปติดต่อให้ทูลเกล้าถวายเงินรายละ 25,000 บาทโดยเสด็จพระราชกุศล ในงานพระกฐิน ที่วัดราชาธิวาส นอกจากจะได้เข้าเฝ้าแล้วยังจะได้รับพระราชทานของที่ระลึกจากพระหัตถ์ด้วย
สามีและภรรยา จึงมีความยินดี บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล
เป็น จำนวนเงิน 50,000 บาท โดยมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้บุคคลผู้นั้น โอนเข้าบัญชีวัด
เมื่อมีการทักท้วงขึ้น ทางวัดจึงนำสมุดบัญชีธนาคารมายืนยัน ว่าสมี ภรรยา คู่นั้นโอนเงินเข้ามาเพียง 20,000 บาท มิใช่ 50,000 บาท
ทางวัดจึงออกใบอนุโมทนาบัตร ตามตัวเลขที่ได้รับจริง
สองสามี ภรรยา ทราบความจริง ก็ตกตะลึง
เมื่อตรวจสอบ พบว่า มีอีก 2 ราย ที่ถูกบุคคลผู้นี้ ยักยอกเงินเข้ากระเป๋าตนเอง
พระธรรมกิตติเมธี จึงเตือนผ่านรายการ #ตระเวณคน ตระเวณธรรม ทาง DD TV # ที่ท่านรับนิมนต์ เป็นวิทยากร เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี ที่ 9 พ.ย. 2566 ว่าขอให้ผู้เกี่ยวข้องในงานทอดกฐิน ที่กำลังชุกอยู่ จงรอบคอบ มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหายได้
ท่านยังเล่าแถมท้าย ให้ทุกระมัดระวัง เรื่องนับเงินกฐิน ที่เจ้าภาพนำมาทอดถวายวัดว่าต้องระวังมิจฉาชีพ มาช่วยนับเงินกฐิน เพราะมักจะนับใส่กระเป๋าตนเอง ดังที่เคยเกิดที่วัดมะม่วงปลายแขน นครศรีธรรมราช ครั้งนั้นมีงานกฐิน ทำพิธีถวายเสร็จก็นับเงินว่าได้รับเท่าไร
ขณะนั้นชายผู้หนึ่งมาร่วมนับด้วย ฝ้ายวัดคิดว่าเป็นคนของเจ้าภาพ ส่วนเจ้าภาพคิดว่าเป็นคนของวัด
กว่าจะรู้ความจริง มันไปพร้อมกับซองกฐินส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตามทางเจ้าภาพ และวัดจับคนนี้ได้ เพราะมันย่ามใจ กลับมาอีกครั้ง
ส่วนผมเองไปอินเดียในช่วงกฐินบ่อยครั้ง พบว่าในอินเดียก็มีโจรปล้นวัดหลังโยมนำกฐินจากไทยไปทอด ถวาย เช่นวัด ย่านพุทธคยา อินเดีย เป็นต้นเท่าที่ทราบนั้น
พอเสร็จพิธี ก็นับเงินกฐินว่าได้กี่หมื่น กี่แสนรูปี ทราบแล้ว ประกาศทางเครื่องขยายเสียงดังไปทั่ว เพื่อให้ญาติโยม อนุโมทนา
เมื่อทอดกฐินแล้ว โยมเดินทางต่อ ตกกลางคืนแขกจริงมาเยือนพร้อมอาวุธครบมือ คือการปล้น
พระต้องให้ มิเช่นนั้นเจ็บ หรือตาย
ปัจจุบันวัดที่รับกฐิน จะไม่คุยว่า กฐินปีนี้ ได้กี่แสน กี่ล้านรูปี มิเช่นนั้นเจอโจรภัย
*(สมาน สุดโต รายงาน)*