๑๑๑ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร วันนี้ (วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕)
เวลา ๑๐.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมศิลปากร ครบรอบ ๑๑๑ ปี (๒๗ มีนาคม๒๕๖๕) และมอบรางวัลให้แก่ข้าราชการพลเรือนดีเด่น และผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในสังกัดกรมศิลปากร โดยมี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เข้าร่วมในพิธี ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งกรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๔ กรมศิลปากร ได้ดำเนินงานตามภารกิจในการขับเคลื่อนงานด้านมรดกวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้งานมรดกศิลปวัฒนธรรม ได้รับการพัฒนาสร้างสรรค์บนหลักความถูกต้องทางวิชาการ มีคุณภาพและมาตรฐาน สังคมและประเทศชาติจึงได้ประโยชน์ ทั้งในด้านการศึกษา เรียนรู้ และด้านการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ สานต่องานเดิม และเริ่มงานใหม่ ทั้งนี้ การดำเนินงานของกรมศิลปากร เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ งานด้านภาษา เอกสารและหนังสือ งานนาฏศิลป์และดนตรี งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและช่างศิลป์ไทย รวมไปถึงงานสนับสนุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมศิลปากร
นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังได้มีนโยบายในการเผยแพร่ความรู้ด้านมรดกวัฒนธรรม โดยให้ประชาชน
เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายขึ้น จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศให้บริการออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการให้บริการในด้านต่าง ๆ ตามภารกิจ ทั้งในด้านโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ หอสมุด หอจดหมายเหตุ ศิลปกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี และพัฒนา เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารงานมรดกศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Facebook Youtube Application line ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วในสังคมปัจจุบัน
กรมศิลปากรตระหนักถึงหน้าที่ในการทำนุบำรุง สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ และการ
สนองงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานในการธำรงรักษาจารีตประเพณี การอนุรักษ์ บำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยี และสร้างสรรค์ต่อยอด เพิ่มคุณค่ามรดกศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนถ่ายทอดเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชน อันจะส่งผลให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป