Smart Green House Hydroponic โรงเรือนปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์อัจฉริยะ “ทีเคซี” สร้างโมเดลต่อยอดรายได้เกษตรกร-ผู้สูงวัย
จากความสำเร็จเบื้องต้นในการนำเทคโนโลยีช่วยเหลือเกษตรกรของมูลนิธิณัฐภูมิ ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ในการเพาะปลูกผักเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างรายได้แก่ชาวบ้าน
และพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ได้ขยับการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นอีกขั้นเพื่อช่วยต่อยอดรายได้ของเกษตรกรให้มากขึ้นไปอีก ด้วยโครงการ
“โรงเรือนอัจฉริยะปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์” หรือ TKC Smart Green House Hydroponic เป็นการนำเทคโนโลยีหลากหลาย IOT(Internet of Things)มาพัฒนาสร้างโรงเรือนอัจฉริยะ
ในการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน แต่ปลูกในน้ำที่มีการผสมปุ๋ยน้ำเป็นสารอาหาร และควบคุมทุกอย่างด้วยระบบ IOT เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุดและสร้างผลกำไรสามารถขายได้ในราคาที่มากกว่าเดิม
การทดลองดังกล่าวเริ่มในปลายเดือนกรกฏาคม 2567 โดยใช้พื้นที่ว่างภายในบริษัทสร้างเป็นโรงเรือนขนาด 12×6 เมตร ภายในติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบต่างๆ อาทิ ระบบวัดอุณหภูมิ ความชื้น ค่าความเข้มแสง ความเร็วลม และตัวเซ็นเซอร์
ซึ่งเป็นตัวหลักในการทำงานเชื่อมต่อสัญญาณรับ-ส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้สามารถเห็นและเก็บข้อมูลให้กับผู้ปลูกหรือเกษตรกร โดยแสดงผลบน Dashboard ที่สามารถควบคุมการทำงานภายในโรงเรือนได้บนจอแท็บเล็ตเพียงตัวเดียว
ยกตัวอย่างเช่น หากอุณหภูมิในโรงเรือนสูงกว่าที่ตั้งค่าไว้ เซนเซอร์ที่ตรวจจับได้ จะพ่นหมอกไอน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ หรือ ระบบการใส่ปุ๋ยที่ปรับสูตรเป็นแบบอัตโนมัติตามค่าความชื้นอากาศที่เซนเซอร์วัดได้ในแต่ละวัน เป็นต้น
ส่วนเกษตรกรหรือผู้ประกอบการมีหน้าที่แค่ดูภาพรวมภายในโรงเรือนและคอยแก้ไขปัญหา ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น ทำให้สามารถทำงานได้โดยแทบไม่ต้องใช้แรงงานคน
“ดร.ภาณุภัทร ภู่เจริญ” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและรักษาการผู้จัดการแผนกวิจัยและนวัตกรรม บอกถึงที่มาของโครงการนี้ ว่าจุดประสงค์คือต้องการทดสอบนวัตกรรมของ TKC ในการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง
เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรหรือผู้เพาะปลูก หากผลการทดลองสำเร็จสมบูรณ์ดี สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาการเพาะปลูกที่มูลนิธิรัฐภูมิ จังหวัดลำปางต่อไป
“เราได้นำเทคโนโลยี IOT คือระบบเซ็นเซอร์และระบบควบคุมมารวมเข้ากับการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์มาติดตั้งในโรงเรือน ทดลองปลูกพืชมูลค่าสูงโดยเลือก “เมล่อน” เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีราคาต่อผลสูง สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่ใช้เวลาในการปลูกค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น คือประมาณ 60-85 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลได้แล้ว จุดเด่นของเมล่อนยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยอีกด้วย สำหรับขั้นตอนการปลูกหลังจากสร้างโรงเรือนและติดตั้งระบบเสร็จแล้ว
จะเริ่มบ่มเมล็ดพันธุ์ให้เป็นต้นกล้า จากนั้นนำมาเพาะในโรงเรือน เมื่อต้นโตได้ขนาดจะมีการผสมเกสรเพื่อให้เกิดผลผลิต ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะควบคุมด้วยระบบซอฟต์แวร์ที่คิดค้นขึ้น รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบ วิเคราะห์ แล้วแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์และดีที่สุดตามที่ต้องการ”
ดร.ภาณุภัทรอธิบายต่อว่าสำหรับเมล่อนที่ทดลองปลูกนี้ ใช้ระบบน้ำหยดเป็นช่วงเวลา โดยใช้น้ำ 2 ลิตรต่อวัน อาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ เป็นการคำนวณจากระบบเทคโนโลยีที่นำมาติดตั้ง สามารถคำนวณเวลาและการเลี้ยงดูตัวพืชได้
เช่น ปรับสูตรปุ๋ยให้มีปริมาณพอเหมาะกับพืช สามารถลดความเข้มและความร้อนของแสงแดดตามที่พืชต้องการ ควบคุมความชื้นของอุณภูมิ สิ่งหนึ่งของโรงเรือนที่ดีคือป้องกันพืชจากโรคและสัตว์รบกวนได้ จึงช่วยลดการใช้สารเคมี
ทำให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลอง คากหวังว่าเมื่อสรุปผลโครงการทั้งหมดออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว พูดได้ว่าโครงการนี้จะนำไปสู่การเพาะปลูกแบบได้ผล100%
ด้าน “สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส กล่าวว่าโครงการนี้ถือเป็นโครงการทดลองที่จะทำต่อยอดในเฟส 3-4 โดยเฟส 1-2 เป็นการเรียนรู้การนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการเพาะปลูกพืช ซึ่งทำร่วมกับมูนิธิณัฐภูมิ
ที่จังหวัดลำปาง เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจึงอยากทำให้เป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ สร้างโรงเรือนเพาะปลูกที่เป็นแบบอัจฉริยะ(Smart)ขึ้นมา มีระบบ AI เข้ามาจัดการดูแลทั้งหมด ตั้งแต่ระบบเซ็นเซอร์รับส่งข้อมูลผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทำให้เห็นข้อมูล
ได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องเสียเวลาเดินเข้าไปจัดการ นอกจากนี้ยังช่วยสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลแบบเจาะลึกเพื่อไปต่อยอดวางแผนแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการปลูกให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับต้นทุนให้ได้มากที่สุดในแต่ละเดือน สิ่งสำคัญ
ที่แตกต่างจากการทำโรงเรือนในอดีต คือมีระบบที่จะมาคาดการณ์ได้ว่าควรปลูกพืชผักผลไม้อะไรที่จะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า โดยจะร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำข้อมูลมาลงในระบบเพื่อให้รู้ว่าวันนี้ที่ลงทุนปลูก
สามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ว่าผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร จะมีอยู่ในระบบของเฟสนี้ทั้งหมด
สยามกล่าวต่อว่าการที่มีโรงเรือนสมาร์ทแบบนี้ จะทำให้สามารถปลูกพืชได้ทุกฤดูกาล เพราะควบคุมทุกอย่างได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นหน้าฝน หน้าร้อน หรือต้องปลูกพืชชนิดนั้นๆ ในเดือนนั้นเดือนนี้ และหากผลการทดลองประสบความสำเร็จด้วยดี
ภายในโรงเรือนสามารถควบคุมทุกอย่างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผลผลิตทั่วทั้งโรงเรือนไม่ว่าปลูกอยู่มุมไหน คุณภาพที่ได้ออกมาจะเหมือนกันหมด ส่วนเรื่องของต้นทุนหรือการลงทุนทั้งหลายขณะนี้ยังไม่สรุปออกมาเป็นตัวเลข ต้องให้รูปแบบที่ทดลองออกมา
ให้ผลชัดเจนที่สุด ต้องดูว่าให้ผลผลิตได้เท่าไหร่ ปลูกไปแล้วได้กำไรหรือไม่ เมื่อทุกอย่างลงตัวจึงจะคำนวณต้นทุนทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อให้โรงเรือนนี้ราคาต้องถูกที่สุด สามารถลงทุนในราคาที่เกษตรกรจับต้องได้และเป็นรูปธรรม คาดว่าทีมวิจัยของ TKC จะสรุป
ได้ไม่เกินภายในสิ้นปี 2567 นี้ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐด้วย โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ที่มีองค์ความรู้และมีปราชญ์ชาวบ้านทางด้านนี้ ขณะที่หน่วยงานเรามีเทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาการเพาะปลูก
“การปลูกเมล่อนเป็นเพียงโครงการทดลอง แท้จริงแล้วสามารถปลูกพืชผลไม้ได้แทบทุกชนิด แต่ที่เลือกปลูกเมล่อนเพราะเป็นผลไม้ที่ปัจจุบันให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง ถ้าการทดลองนี้สำเร็จก็สามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้เกือบทุกชนิดที่มีมูลค่าสูง
หรือมีราคาแพง เพราะจุดมุ่งหมายของเรา คือนำเทคโนโลยีมายกระดับการประกอบอาชีพหรือการทำการเกษตรของเกษตรกร ให้เขามีรายได้สูงขึ้นมากกว่าเดิม นอกจากนั้น ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือไม่เฉพาะเกษตรกร แต่โรงเรือนนี้สามารถปรับขนาด
หรือสร้างระบบที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น พื้นที่ว่างหลังบ้านเพื่อปลูกผัก ผลไม้ เป็นงานอดิเรกหรือสร้างรายได้เสริมให้คนวัยเกษียณหรือผู้สูงอายุ ประเทศไทยเองกำลังเผชิญกับความท้าทายในอนาคตที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ
พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศประมาณ 13 ล้านคนจากประชากรไทยทั้งหมด 64 ล้านคน และยังมีความท้าทายด้านอื่นๆ ตั้งแต่การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร การแข่งขันเรื่องราคาในตลาด เป็นต้น ดังนั้น หากการทดลองเป็นไปด้วยดี
โรงเรือนอัจฉริยะ Smart Green House Hydroponic ของ TKC จะช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี”สยามกล่าว
ปัญหาที่ยากและท้าทายที่สุดที่เกษตรกรไทยหรือคนเพาะปลูกพืชต้องเผชิญมาทุกยุคทุกสมัย หนีไม่พ้นคือการดูแลและจัดการกับผลผลิตเพื่อให้ได้ตามความต้องการ นำไปสู่การสร้างรายได้อย่างแท้จริง ซึ่งปัญหานี้เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนแปลง
การเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์เกษตรกรได้มากกว่าเดิม เช่นเดียวกับโรงเรือน Smart Green House Hydroponic หรือ โรงเรือนปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์อัจฉริยะ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่และเป็นระบบนำร่อง
การบริหารจัดการผลผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนการจ้างแรงงานให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต