อุบลฯ ยกทัพผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีอุบลราชธานี บุกรายการ “ปากท้องต้องรู้”
ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ OTOP ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 กรุงเทพมหานคร
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นางทรงลักษณ์ วรภัยรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นำทีมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานีโดยนายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางสาววรางคณาอินทรเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายคำพอง วรรณวัติ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด เครือข่ายผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP นางอุบลกาญจน์ โหตระไวศยะ / ประธานกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ร้านต้นเทียนไหมไทย นำขบวนสินค้าOTOP อาทิเช่น ผ้าไหมกาบบัว ผ้าไหมกาบบัวเขียนลาย ผ้าไหมอัญญานาง กระเป๋าจากผ้าไหมกาบบัว เครื่องประดับเพชรซีก หมูยอ กุนเชียง ก๋วยจั๊บอุบล เสื้อแจ็คเก็ตผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือ ชุดราตรีผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้ากาบบัวลายแสงแรก เชี่ยนหมากทองเหลือง และคุกกี้
ร่วมจัดแสดงเพื่อบันทึกเทปรายการ “ปากท้องต้องรู้” ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ซึ่งเป็นรายการที่นำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไทย ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆทั่วไทย ผลงานโอทอปสินค้าของดีของแต่ละจังหวัด โดยได้พิธีกร คุณเอ ไชยา มิตรชัย และ คุณแป้งศรันฉัตร์ มิตรชัย ที่จะมานำเสนอเนื้อหาของรายการ ซึ่งจะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 -10.00 น.
ทั้งนี้ นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานี มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ขึ้นชื่อหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าไหมกาบบัวผ้าไหมกาบบัวเขียนลาย ผ้าไหมอัญญานาง กระเป๋าจากผ้าไหมกาบบัว เครื่องประดับเพชรซีก หมูยอ กุนเชียง ก๋วยจั๊บอุบล ผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้ากาบบัวลายแสงแรก เชี่ยนหมากทองเหลือง และคุกกี้จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
โดยผลิตภัณฑ์หมูยอ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อหมู มันหมู และเครื่องปรุงรส อาจมีส่วนประกอบอื่น เช่น โปรตีนนม โปรตีนพืชเข้มข้น และแป้งมันสำปะหลัง นำมาผสมและบดให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน อาจมีส่วนผสมที่เติมลงไปเพื่อให้เกิดลักษณะเฉพาะ เช่นหนังหมู เห็ดหอม พริกไทยดำ นำมาคลุกผสมให้กระจายโดยทั่ว แล้วบรรจุในวัสดุห่อหุ้มให้แน่น นำไปต้มหรือนึ่งให้สุก เป็นผลิตภัณฑ์ของฝากเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี
ผลิตภัณฑ์กุนเชียง มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง ไส้กรอก โดยในภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า กุ๊งเชียง เพราะคำว่า กุ๊ง แปลว่ากรอก หรือบรรจุ แต่คนไทยหลายคนชอบคิดว่ากุนเชียงคือไส้กรอกหมูแบบจีน ซึ่งที่มาของความสับสนก็เกิดจากคำว่า “กุน” มันไปตรงกับคำในกลุ่ม 12 นักษัตร ที่แปลว่า หมู ทุกคนเลยคิดว่า กุนเชียง = หมูเชียง ซึ่งการทำไส้กรอกแบบจีนนั้น จะนิยมใช้เนื้อหมูติดมันนำมาสับหรือบดหยาบ ๆ แล้วปรุงรสเค็มหวาน จากนั้นนำไปกรอกใส่ลงในไส้หมูที่ล้างสะอาด แล้วนำไปอบหรือผึ่งแดดจนแห้งเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งที่ทำให้อาหารอยู่ได้นานเป็นแรมปี
ผลิตภัณฑ์ก๋วยจั๊บอุบล เป็นอาหารประเภทเส้นที่ดัดแปลงมาจากอาหารเวียดนาม โดยใช้แป้งที่ทำมาจากข้าวไทย จึงทำให้เส้นนั้นมีความเหนียวนุ่ม ซึ่งต่างจากอาหารเส้นที่นิยมรับประทานในประเทศเวียดนาม ก๋วยจั๊บอุบลนั้นอาจมีรสชาติที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับส่วนผสมเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละร้าน ก๋วยจั๊บอุบลนั้นจะสิ่งที่ขาดสิ่งที่ทานคู่กันไม่ได้นั้นคือ หมูยออุบล ที่มีเนื้อหมูเน้นๆ ผสมกับพริกไทยที่เพิ่มความหอมและรสชาติที่กลมกล่อม ร้านก๋วยจั๊บอุบลนั้นได้รับความนิยมอยู่ตลอดเวลาข้ามยุคข้ามสมัยจากทั้งคนอุบล และคนต่างจังหวัด รวมถึงชาวต่างชาติ และบางทีคุณไม่สามารหาร้านก๋วยจั๊บอุบลได้ และไม่มีเวลาพอที่จะทำก๋วยจั๊บอุบลทานเองที่บ้าน เราเพิ่มทางเลือกใหม่คือ ก๋วยจั๊บอุบลกึ่งสำเร็จรูป ที่ลดเวลาในการเตรียม เพียงเทน้ำร้อนลงไป สามารถรับประทานได้ทันที ได้รสชาติต้นตำรับก๋วยจั๊บอุบลแท้มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนเกิดขึ้นจากการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและความสะดวกของผู้บริโภคในเมืองที่มีความเร่งรีบได้
ผลิตภัณฑ์ขนมคุกกี้ ซึ่งเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนให้นักเรียน นักศึกษาคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ และสามารถนำวิชาความรู้สร้างรายได้ระหว่างเรียนอีกทางหนึ่งด้วย จึงได้จัดกิจกรรมผลิตและจำหน่าย คุกกี้ เนื่องในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประจำปี 2565 ในชื่อโครงการ เทศกาล“เค้ก คุกกี้ ของขวัญปีใหม่ 2565 สุขใจผู้ให้ ถูกใจผู้รับ” โดยคณะครู นักเรียน นักศึกษา ในแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ ได้ผลิตสินค้าดี มีคุณภาพในราคาย่อมเยา ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจ ได้แก่ คุกกี้คอร์นเฟลก จำหน่ายเป็นกล่อง
ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับเพชรซีก ทุกยุคทุกสมัยย่อมมีเครื่องประดับอาภรณ์ ที่บ่งบอกถึงอารยธรรม ประเพณี วัฒนธรรม ที่บ่งบอกถึงคนในสมัยนั้นๆ และเครื่องประดับเพชรซีกก็เป็นอีกเครื่องประดับโบราณที่สืบทอดภูมิปัญญาจากฝีมีช่างโบราณ จังหวัดอุบลเป็นพื้นที่ที่มีเขต เชื่อมโยงลาว กัมพูชา จึงมีลวดลายการทำเครื่องประดับที่เป็นลวดลายผสมผสานจากช่างลาว ไทย กัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นลายยอดหลวงของลาวลายกนกของไทย ลวดลายปราสาทของกัมพูชา เครื่องประดับของอุบลจึงมีอัตลักษณ์ แรงบันดาลที่ช่างได้น้ำเพชรซีกมาประดับตัวเรือนจากครั้งพระพันปีหลวงเสร็จเยือนอุบลราชธานีพระองค์ทรงเครื่องประประดับอาภรณ์ที่ประดับด้วยเพชรซีก ที่สวยงดงาม ทำให้ช่างอุบลอยากเรียนรู้และอยากทำเครื่องทองเพชรซีกขึ้น และได้ทำสืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบันเครื่องประดับเพชรซีกได้มีการออกแบบให้สามารถเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์เชี่ยนหมากทองเหลือง ภูมิปัญญาชาวบ้าน ท้องถิ่นบ้านปะอาว โดยวิธีการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ ใช้วัสดุในการผลิต ผลิตภัณฑ์ทองเหลืองบ้านปะอาวสามารถแบ่งได้สองประเภท คือ แบบที่เป็นขิงดั้งเดิม เช่น ชุดเชี่ยนหมาก ทำจากเศษวัสดุทองเหลืองที่เป็นของใช้ในบ้าน เช่น กุญแจทองเหลือง ก๊อกน้ำทองเหลืองและผสมผสานการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นตามแบบอย่างภูมิปัญญาดั้งเดิม คือขี้ผึ้ง(เทียน)ดินจอมปลวก มูลวัว และอุปกรณ์มีการประยุกต์เพิ่มเติมบางส่วน ลวดลายที่ใช้พิมพ์ลงในเครื่องทองเหลืองเป็นลายโบราณมี 2 แบบ คือ ลายอิงหมากหวาย /ลายหมากหวายและลายกลีบบัว สัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ด้าน นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีถือว่ามีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์มากเป็นดินแดนมหัศจรรย์ที่เห็นตะวันก่อนใครในสยาม เรามีสินค้าที่ต้องห้ามพลาด อาทิเช่น เสื้อแจ็คเก็ตผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือจาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหมือดแอ่ อำเภอนาตาล เป็นการนำผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามสินค้าในชุมชน มาผสมผสานกับผ้ายีนส์ เพื่อให้ได้รูปแบบที่ดูทันสมัย สร้างทางเลือกใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นให้หันมาสวมใส่ผ้าไทย เป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมสินค้าในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
ผลิตภัณฑ์ผ้ากาบบัวลายแสงแรก จากกลุ่มทอผ้าบ้านซะซอม อำเภอโขงเจียม ซึ่งผ้าแสงแรกเกิดจากแรงบันดาลใจจากแสงเงินแสงทองของรุ่งอรุณที่จังหวัดอุบลราชธานีถ่ายทอดความงดงามนี้มาเป็นผืนผ้าเพื่อเก็บความประทับใจนี้ไปยาวนาน โดยจังหวัดอุบลราชธานีนี้ถือได้ว่า เป็นราชธานีของศิลปวัฒนธรรมแห่งแดนอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะหัตถกรรม มีผ้าประจำถิ่นคือ ผ้ากาบบัว ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี และที่เป็นสินค้าต้องห้ามพลาดอีกหนึ่งอย่างคือผ้าฝ้ายทอมือ การทำผ้ามัดหมี่ย้อมคราม ย้อมเปลือกไม้ สร้างลายผ้า ทอผ้าเองทุกขั้นตอน นอกจากผ้าฝ้ายที่เป็นผืนแล้ว ยังสามารถนำมาตัดเป็นชุดราตรีผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติที่มีลวดลายความเป็นเอกลักษณ์ของชาวเขมราฐ เช่น ชุดราตรีผ้าฝ้ายย้อมครามลายนาคน้อย เพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วไปทั่ว และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน ร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไหมเพื่อกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
ด้านนางอุบลกาญจน์ โหตระไวศยะ / ประธานกลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ร้านต้นเทียนไหมไทย เล่าเรื่องราวของ “ผ้ากาบบัว” เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี สีผ้ากาบบัว เป็นสีของกาบบัว หรือกลีบบัว ซึ่งไล่จาก สีอ่อนไปแก่ จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล ซึ่งผ้ากาบบัวมีความหมายและเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืน ย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ “ซิ่นทิว” นอกจากนี้ ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด
ผ้าไหมกาบบัวเขียนลาย ทอโดยใช้เทคนิคพิเศษในการเขียนลายต่างๆ เช่น ลายดอกยางนา(ดอกต้นไม้ประจังหวัดอุบลราชธานี) ลายดอกบัว(ดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี) ลายดอกสะแบง ลายดอกลำดวน ลายดอกกุหลาบ ดอกชบา เป็นต้น
ผ้าไหมอัญญานาง ในตำนานเก่าแก่ของเมืองอุบลราชธานี ยังมีผ้าทอมืออีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ผ้าอัญญานาง” ที่เป็นผ้าซิ่นสำหรับสตรีชั้นสูงหรือภริยาของเจ้าเมือง ซึ่งผ้าอัญญานางจะมีลวดลายที่มีความพิเศษที่แตกต่างจากผ้าซิ่นที่หญิงสามัญชนทั่วไปใช้ ตั้งแต่ลวดลาย สีสันรวมถึงขั้นตอนการทอที่พิเศษและยากลำบาก โดยลวดลายที่ขึ้นชื่อมากที่สุดก็คือ ซิ่นทิวมุกจกดาว ที่เป็นผ้านุ่งสำหรับอัญญานางเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช
กระเป๋าจากผ้าไหมกาบบัว กระเป๋าผ้าไหมกาบบัว ร้านต้นเทียนไหมไทย เป็นกระเป๋าที่ใช้วัสดุจากผ้าไหม ผ้ากาบบัว ใช้เทคนิคการทอที่พิเศษ ใช้ผ้าที่มีลวดลายที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่มีความสวยงาม มาใช้ตัดเย็บเป็นกระเป๋า เช่น ลายขอพระราชทาน ลายทิวมุกจกดาว ลายกาบบัว เป็นต้น
ท้ายที่สุด ขอฝากจังหวัดอุบลราชธานี มีศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เมืองคน เมืองธรรม “ เมืองอุบลฯ คนสามธรรม “ ได้แก่ ธรรมะ วัฒนธรรม และธรรมชาติเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ท่านอยากมาเยี่ยมชม มาเที่ยวอุบลราชธานีท่านจะได้อิ่มท้อง อิ่มตา อิ่มใจ อิ่มบุญ มีความสุขอย่างแน่นอน และขอเชิญชวน ช้อป สินค้า OTOP เด่นของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีช่องทางในการจำหน่าย ทาง Offline กับผู้ประกอบการ OTOP โดยตรงหรือต้องการให้สั่งสินค้า Online สามารถติดต่อได้ที่ เพจ OTOP อุบลราชธานี และ OTOP TODAY