ศรชล.สกัดเรือประมงผิดกฎหมายในพื้นที่หวงห้ามทางทะเลระนอง
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (โฆษก ศรชล.) แถลงว่าเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 64 ศรชล. ภาค 3 ได้รับแจ้งจากศูนย์เฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย (FMC) ของกรมประมง ซึ่งมีระบบการตรวจพิกัดเรือ ตรวจพบข้อมูลเป้าเรือประมง ชื่อมณฑลสถาพร ทะเบียนเรือ 398501108 พบพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเข้าทำประมง ในเขตทะเลชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ กำตกจ.ว.ระนอง ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1.26 – 1.36 ไมล์ทะเล อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามทำการประมงที่กำหนดไว้ ต้องห่างจากฝั่งตั้งแต่ 1.6 ไมล์ทะเลออกไป ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อนและแนวปะการังได้กำหนดประกาศไว้ตามข้อกำหนด ทั้งนี้ ทางศูนย์FMC ได้ทำการเฝ้าระวังและติดตาม
เป้าเรือดังกล่าว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 64 ในการนี้ พลเรือโท สมพงษ์ นาคทอง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 /ผอ. ศรชล.ภาค 3 ได้สั่งการให้ ศรชล.ภาค 3 บูรณาการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปทำการตรวจสอบเรือประมงดังกล่าว โดยมีเรือ ต.232 จากทัพเรือภาคที่ 3 และเรือ ตรน. 629 จากกองบังคับการตำรวจน้ำภาค 8 เข้าร่วมทำการตรวจสอบ และได้พบเรือมณฑลสถาพรจึงได้ควบคุมเรือดังกล่าว ซึ่งมีผู้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรือจำนวน 8 คน (ไทย 2 คน เมียนมาร์ 6 คน) เดินทางกลับเข้าไปยังท่าเทียบเรือแพเจริญกิจ ต.ปากน้ำ อ. เมือง จ.ว.ระนอง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน โดยศรชล. ภาค 3 ได้ประสานกับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า–ออก เรือประมงระนอง (PIPO จ.ว.ระนอง) จัดเจ้าหน้าที่ชุดตรวจเรือเข้าดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงร่วมกับเจ้าของเรือด้วย เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
โฆษก ศรชล. กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเรือเอกสมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ/รองผู้อำนวยการ ศรชล. ได้มอบนโยบายถึงการทำหน้าที่ของ ศรชล.ส่วนหนึ่งไว้ว่า ให้ประสานการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการ และบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องพร้อมทั้งดำรงมาตรฐานและความต่อเนื่อง ในการกำกับดูแลหน่วยงานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ การปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการ บูรณาการและประสานการปฏิบัติของหน่วยงานใน ศรชล. ที่สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาการกระทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความยั่งยืน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล และผลประโยชน์แท้แก่ปวงชนชาวไทย อันทำให้เกิดผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศอีกด้วย